เปิดปูมเหตุต้องทบทวนโครงการซื้อฝูงบินการบินไทย 38 ลำ
ย้อนรอยเหตุต้องทบทวนโครงการจัดซื้อฝูงบิน 38 ลำ ระยะที่ 2 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 240,000 ล้านบาท เผยหวังสกัดค่าคอมมิชชัน กว่า 6,000 ล้านบาท เผยการบินไทยเตรียม ชง คสช.หลัง เวิร์กช็อปยุทธศาสตร์ธุรกิจและแผนฟื้นฟูของบริษัทแล้ว
ASTVผู้จัดการ – ย้อนรอยเหตุต้องทบทวนโครงการจัดซื้อฝูงบิน 38 ลำ ระยะที่ 2 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 240,000 ล้านบาท เผยหวังสกัดค่าคอมมิชชัน กว่า 6,000 ล้านบาท เผยการบินไทยเตรียม ชง คสช.หลัง เวิร์กช็อปยุทธศาสตร์ธุรกิจและแผนฟื้นฟูของบริษัทแล้วหลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนโครงการจัดซื้อฝูงบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 240,000 ล้านบาท ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ ตรวจสอบพบว่า โครงการจัดซื้อฝูงบินดังกล่าวมิใช่โครงการใหม่ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ที่นำเสนอเมื่อปี 2552 โครงการนี้เป็น โครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ปี 2561-2565 จำนวน 38 ลำ โดยเป็นการจัดหาแบบสั่งซื้อและรับมอบเครื่องบินตามข้อกำหนดในสัญญา หรือ Firm Order 21 ลำ วงเงิน 125,992 ล้านบาท และการจัดหาแบบเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ภายใน 2 ปี ก่อนการรับมอบ หรือ Option Order 17 ลำ วงเงิน 103,081 ล้านบาท รวมทั้งเครื่องยนต์สำรอง วงเงิน 11,979 ล้านบาท รวมเป็น 241,052 ล้านบาท ทว่า ที่ผ่านมาการบินไทยยังประสบปัญหาการขาดทุน ทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนศึกษาแผนการจัดซื้อเครื่องบินในล็อตที่ 2 นี้ใหม่ โดยมีข้อสรุปว่าแผนการจัดซื้อเครื่องบินก็ยังต้องดำเนินการอยู่ แต่จำเป็นต้องชะลอการรับมอบออกไป โดยยืดระยะเวลาการรับมอบออกไปนานขึ้นกว่าแผนเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะการเงินของบริษัท ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่า ประเด็นนี่นี่เองที่เป็นชนวนสำคัญของการที่คณะกรรมการ บมจ.การบินไทย (บอร์ดการบินไทย) มีมติให้เลิกจ้าง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์” อดีตดีดีการบินไทยในช่วงกลางปี 2555 โดยอ้างเหตุผลของการปลดว่าเพราะมีปัญหาการสื่อสารกับบอร์ดแทน • จัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 บอร์ดเดินหน้าต่อ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 นายอำพน กิตติอำพน ในสมัยที่ยังนั่ง เป็นประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในช่วงการประชุมบอร์ดสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารกลับไปพิจารณาแผนโครงการจัดหาเครื่องบินทั้งแบบซื้อและแบบเช่าในระยะยาว หรือช่วงที่ 2 จำนวน 38 ลำ ในช่วงปี 2561-2565 ใหม่ทั้งหมด “เนื่องจากปัจจุบัน การบินไทยต้องประสบความเสี่ยงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสถานะทางการเงิน เพราะปีที่ผ่านมา การบินไทยมีผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้า คือประสบปัญหาขาดทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท “ปัจจุบันที่ประชุมบอร์ดการบินไทยมองประเด็นการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ โดยจะตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหานี้ของการบินไทยอย่างรอบด้านเสียก่อน “อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่บอร์ดต้องเดินหน้าต่อไป แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบและให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด สอดคล้องไปตามมติของคณะรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของบริษัท โดยเฉพาะในภาวะที่เรากำลังประสบปัญหาความเสี่ยงทางด้านการเงิน” นายอำพนระบุในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเดือนมีนาคม 2555 ขณะที่แผนการจัดซื้อและเช่าเครื่องบินในช่วงแรก 37 ลำ สำหรับปี 2554-2560 มูลค่ารวมประมาณ 118,604 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อจำนวน 15 ลำ มูลค่ารวมประมาณ 49,537 ล้านบาท และการเช่าดำเนินงานจำนวน 22 ลำ มูลค่ารวมประมาณ 69,067 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีผลโดยตรงต่อการเงินในระยะยาว การบินไทยจึงให้เดินหน้าแผนดังกล่าวต่อไป ส่วนแผนการจัดหาระยะที่ 2 จำนวน 38 ลำ มีมูลค่ารวมประมาณ 240,000 ล้านบาท • สกัดคอมมิชชั่น 6,000 ล้าน ขณะเดียวกันก็มีเสียร่ำลือว่าการประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในประเด็นแผนระยะยาวการปรับเปลี่ยนฝูงบินให้ทันสมัยระหว่างปี 2555-2561 ว่าจะปลดระวางเครื่องบินเก่า 51 ลำ รวมทั้งเครื่องบินที่นกแอร์เช่า แผนการส่งมอบเครื่องบินใหม่ 56 ลำที่ได้รับการอนุมัติแล้ว โดยซื้อ 26 ลำ และการเช่าดำเนินงาน 30 ลำ นายปิยสวัสดิ์ ดีดีสมัยนั้น เห็นควรจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว เพราะหากไม่เริ่มในตอนนี้อาจทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถจัดหาเครื่องบินได้ทันเวลา เนื่องจากความต้องการเครื่องบินในตลาดสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงได้ทำเรื่องเสนอบอร์ดว่าจะมีการดำเนินการจัดหาเครื่องบินใหม่ตามโครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ปี 2561-2565 และเพื่อให้การบินไทยเดินไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทั้งสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในกลุ่มธุรกิจองค์กร ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงด้านเครือข่ายเส้นทางและฝูงบิน แต่ประธานบอร์ด “นายอำพน กิตติอำพน” กลับมองว่า ตอนนี้ฐานะทางการเงินของการบินไทยไม่ค่อยดี และยังมีความเสี่ยงจึงยังไม่อยากให้มีการจัดหาตามโครงการดังกล่าว ที่สำคัญเห็นว่าควรจะนำเรื่องนี้เสนอ ครม.ชุดปัจจุบันพิจารณาอีกครั้ง ในที่ประชุมบอร์ดเมื่อเดือนมีนาคม 2555 มีเพียงนายปิยสวัสดิ์คนเดียวที่คัดค้านไม่ให้เรื่องการจัดหาเครื่องบินในโครงการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขณะที่บอร์ดคนอื่น ๆ เห็นพ้องกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นโครงการที่มูลค่าการลงทุนสูง ทั้งนี้การโยนเรื่องกลับไปยัง ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็อาจจะถูกมองว่า “การเมือง” พยายามเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเลือกเครื่องบินจำนวนดังกล่าวแทนฝ่ายบริหารของการบินไทย โดยเฉพาะยิ่งมีการประเมินว่า การจัดซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งจะมีค่าคอมมิชชันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของราคาเครื่อง หรือ มีมูลค่าถึงราว 6,000 ล้านบาท • การบินไทย เวิร์กช็อปยุทธศาสตร์ก่อนชง คสช. ล่าสุดแผนการลงทุนในการจัดซื้อฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)อีก 38 ลำ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ที่ในขณะนี้ทางฝ่ายบริหารและบอร์ดอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดของโครงการ มีรายงานว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการเวิร์กช็อปยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจและแผนฟื้นฟูของบริษัท ซึ่งในส่วนของแผนการลงทุนหลัก ๆ จะเป็นโครงการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ที่ยังดำเนินการค้างอยู่ เพราะก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี สมัยอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(วันที่ 20 เม.ย.54) ได้มีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อฝูงบินระยะยาว(ปี2555-2565) ของการบินไทยจำนวน 75 ลำแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 37 ลำ ยังเหลือการจัดซื้อในส่วนที่เหลืออีก 38 ลำ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนทบทวนศึกษารายละเอียดของโครงการ เพื่อสรุปยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ นำเสนอรายละเอียดให้ คสช.พิจารณา แม้บอร์ดหลายคนจะลาออกไปแล้ว รวมถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งช่วงต้นสัปดาห์เปิดเผยว่าจะยื่นหนังสือลาออกจาก ประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปองค์กร โดยจะแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ “เป็นเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งในเรื่องรัฐวิสาหกิจถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูป เพราะมีผลต่อความมั่นคง เศรษฐกิจซึ่งคสช.จะให้บุคคลที่มาจากสายการเมืองซึ่งมีเวลาน้อยในการทำงาน ไม่มีความเชี่ยวชาญในสายงาน ได้เสียสละตัวเอง และเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำงานแทนโดยจะให้เป็น ไปด้วยความสมัครใจ จะไม่มีการใช้กฎหมายไปบังคับ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว |
แหล่งข่าว ที่มา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000069209
Related News
บุกไปโรงงาน Airbus ถึงฝรั่งเศส กับภารกิจพา A320neo ลำใหม่ของ Thai AirAsia บินกลับสู่ประเทศไทย
ไปดูว่ากว่าจะมาเป็นเครื่องบินลำใหม่ของแอร์บัสที่สายการบินต่าง ๆ นำไปให้บริการผู้โดยสารนั้น จะมีขั้นตอนในการผลิตและประกอบอย่างไร และสายการบินจะต้องมีดำเนินการอย่างไรในการตรวจสอบและรับมอบเครื่องบินลำใหม่ว่ามีความสมบูรณ์และพร้อมให้บริการผู้โดยสารแล้ว รวมไปถึงเราจะพาทุกคนบินกับเที่ยวบินส่งมอบ ด้วยเครื่องบินลำใหม่ Airbus A320neo ของไทยแอร์เอเชีย จากโรงงานที่ตูลุส จนมาถึงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ ไปดูบรรยากาศกันว่าบนเที่ยวบินส่งมอบเครื่องบินใหม่ มาประจำการในฝูงบินของสายการบินนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง อ่านต่ออ่านต่อ
ลองของใหม่เอี่ยม!! บินไฟลท์แรกกับ Airbus A320neo ลำแรกของไทยแอร์เอเชีย
กลุ่มแอร์เอเชียก็ถือเป็นสายการบินแรกในเอเชียแปซิฟิคที่เป็นผู้ปฏิบัติการด้วยเครื่องบินแบบ เอ320นีโอ รวมถึงไทยแอร์เอเชีย นั้นก็รับมอบ เอ320นีโอลำแรกมาให้บริการแล้ว ทีมข่าวHFLIGHT เองมีโอกาสเดินทางในเที่ยวบินแรกที่เครื่องบินลำนี้ให้บริการ ตามไปชมกันและทำความรู้จัก กับ เอ320นีโอกันครับ อ่านต่อ “ลองของใหม่เอี่ยม!! บินไฟลท์แรกกับ Airbus A320neoอ่านต่อ