HFLIGHT INSIGHT
โดย JK..LSKY
สวัสดีครับกลับมาพบกับคอลัมน์ HFLIGHT INSIGHT กับเรื่องราวน่าสนใจในแวดวงการบิน ในเดือนนี้เราขอพาท่านไปพบกับ คุณกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ(DS) ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะมาเล่าให้เราฟังถึงแผนการปรับปรุงพัฒนาฝูงบินของการบินไทย และบริการต่าง ๆ บนเที่ยวบินของการบินไทยครับ
คุณกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
หน้าที่ของฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ
ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการนั้นดูแลในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำขึ้นเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ในที่นี่ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้โดยสารเห็น จับต้อง สัมผัสได้ และรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การให้บริการ การตกแต่งภายในห้องโดยสาร(Cabin Interior) ที่นั่ง พรม อาหารเครื่องดื่ม ไปจนถึง ตัวเครื่องบิน ยกเว้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกลไกการบิน หรือเครื่องยนต์
การปรับปรุงพัฒนาฝูงบินปัจจุบัน
777-300 : ฝูงบินปัจจุบันก็มีการปรับปรุงหลายโครงการ โครงการแรกที่เพิ่งทำเสร็จไปคือ โบอิ้ง 777-300 ที่ปรับปรุงชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดให้มีจอทีวีสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง และมีชั้นธุรกิจที่ปรับเอนนอนได้ 170 องศา
777-200 : ส่วนโครงการที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 2 โครงการใหญ่ ๆ โครงการแรกนั่นคือการปรับปรุงชั้นประหยัดของ โบอิ้ง 777-200 (772) โดยติดตั้งจอภาพยนตร์ส่วนตัวในชั้นประหยัด โดยจะติดตั้งทั้งหมด 8 ลำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ในขณะนี้(กรกฎาคม 2555) ติดตั้งเสร็จแล้ว 1 ลำ และจะทยอยติดตั้งแล้วเสร็จประมาณเดือนละ 1 ลำ
747-400 : ส่วนอีกโครงการนั้นคือการปรับปรุงเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ
ระยะแรกนั้นได้ทำไปแล้วเสร็จในปีที่แล้ว คือการปรับปรุงที่นั่งชั้นประหยัดในโบอิ้ง 747-400 จำนวน 6 ลำที่เป็น 6 ลำกลาง(หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : ลำที่ 7-12 หรือ 74R ทะเบียน HS-TGO,P,R,T,W,X) โดยโครงการนี้ปรับปรุงเฉพาะที่นั่งในชั้นประหยัด เพราะที่นั่งชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจได้ปรับปรุงเสร็จแล้วในก่อนหน้านี้
การปรับปรุงติดตั้งจอภาพยนตร์ส่วนตัวในชั้นประหยัด บนโบอิ้ง 747-400 6 ลำกลาง
ระยะที่สองนั้นกำลังดำเนินการอยู่ คือการปรับปรุงที่นั่งของโบอิ้ง 747-400 6 ลำหลังหรือลำที่ 13-18 ซึ่งเป็นลำที่ใหม่ที่สุด (หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : 74N ทะเบียน HS-TGY,Z,A,B,F,G) โดยโครงการนี้จะปรับปรุงที่นั่งทั้ง 3 ชั้นโดยสาร ทั้งชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด โดยก่อนที่นำมาปรับปรุงนั้นเครื่องบินเหล่านี้จะให้บริการในเส้นทางไปยังสแกนดิเนเวีย ลำแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรฎาคมนี้
ในส่วนของชั้นประหยัดก็จะมีจอภาพยนตร์ส่วนตัวทุกที่นั่งในระบบ Panasonic Ex2 ซึ่งเป็นระบบสาระบันเทิงที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ส่วนชั้นธุรกิจจะเป็นแบบ Port มีหลังคาและปรับเอนนอนได้ 170 องศา และในส่วนของชั้นหนึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจเสนอเพราะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับโครงการ แอร์บัส เอ380-800 ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ในฝูงบินปัจจุบันให้ใกล้เคียงกับฝูงบินใหม่และฝูงบินใหม่กับฝูงบินในอนาคต โดยจะมีการตกแต่งด้วยวัสดุที่ทำเหมือนไม้ระแนงทำให้ผู้โดยสารมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นและมีความเป็นเอเชียหรือความเป็นไทยพอสมควร โดยจุดเด่นของการนำวัสดุนี้มาใช้ คือจะทำหน้าที่เหมือนเป็นมูลี่ที่ให้ผู้โดยสารสามารถมองออกไปยังนอกที่นั่งตนได้ แต่มองจากข้างนอกเข้ามาไม่เห็น แต่ทั้งนี้ การออกแบบห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่งบนเครื่องแบบโบอิ้ง 747-400 (74N) และแอร์บัสเอ A380 ของการบินไทย เราจะไม่ทำเป็นห้องส่วนตัว หรือเป็น ห้อง suite ทั้งนี้เนื่องจากได้พิจารณาดูแล้วทั้งเรื่องของตลาดและความเหมาะสม เช่นเรื่องของพื้นที่บนส่วนหัวของโบอิ้ง 747-400 นั้นไม่ได้กว้างนักถ้าทำที่นั่งแบบปิดหมดเลยผู้โดยสารจะรู้สึกอึดอัด และการจัดวางที่นั่งจะค่อนข้างแออัดและคุดคู้ อีกประการหนึ่งคือห้องโดยสารทีเปิดปิดมิดชิดนั้นสายการบินส่วนใหญ่ที่ใช้มักเป็นสายการบินอาหรับ เพราะว่าหากผู้โดยสารที่เป็นสตรีเดินทางแล้วต้องการพักผ่อนอาจดูไม่ค่อยงามวัฒนธรรมของเขาหากจะเปิดที่นั่งให้ผู้คนมองเห็นได้ง่าย แต่หากไปดู แอร์บัส เอ380 ของสายการบินยุโรปอย่างแอร์ฟรานซ์ หรือลุฟท์ฮันซา ในชั้นหนึ่งก็มีแผงกั้นในระดับหนึ่ง ไม่ได้ปิดกั้นทั้งหมด
ภาพกราฟฟิคแสดงถึงที่นั่งชั้นหนึ่งบนโบอิ้ง 747-400 6 ลำหลัง เมื่อได้รับการปรับปรุงแล้ว
A300-600, A330-300 : นอกจากนั้นในส่วนของฝูงบินที่รับใช้การบินไทยมานานแล้ว เช่น แอร์บัส เอ300-600 คาดว่าจะปลดระวางออกจากฝูงภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งในระหว่างที่ยังให้บริการนี้ เราก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะปรับระบบการฉายภาพยนตร์จากใช้เทปเป็นระบบดิจิตอลดีหรือไม่ ซึ่งการปรับปรุงนี้ก็ใช้งบประมาณในหลักแค่แสนบาท ไม่ได้มากมายเป็นหน่วยล้านบาท ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม
อีกโครงการที่กำลังพิจารณาสำหรับฝูงบินปัจจุบัน คือฝูงบินแอร์บัส เอ330-300 รุ่นแรก จำนวน 12 ลำ (หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : 333 ทะเบียน HS-TEA,B,C,D,E,F,G,H,J,K,L,M) ซึ่งอายุงานคาดว่าจะใช้ไปอีก 5 ปี ก็ต้องพิจารณาดูว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้ใกล้เคียงกับ แอร์บัส เอ330-300 รุ่นใหม่ หรือ A330-343HGW ( หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : 330 ทะเบียน HS-TEN,O,P,Q,R,S,T,U และ 33H ทะเบียน HS-TBA,B,C … ) ซึ่งมีจำนวน 15 ลำ (หมายเหตุของผู้สัมภาษณ์ : 8 ลำสำหรับ 330 และ 7 ลำ สำหรับ 33H)
นอกจากนั้นแล้วตอนนี้การบินไทยเพิ่มบริการ Ipad2 สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจบน แอร์บัส เอ330-300 (12 ลำแรก) ซึ่งให้บริการตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการพัฒนาการบริการในฝูงบินปัจจุบันที่ยังไม่มีระบบ AVOD และความสวยงามความทันสมัยของ Ipad2 ก็ล้อกับระบบความบันเทิงของฝูงบินใหม่ ๆ ซึ่งในอดีตการบินไทยก็เคยใช้ Portable Walkman ให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจมาแล้ว
ผลิตภัณฑ์บนฝูงบินใหม่ที่กำลังรับมอบ
A330-300 : ฝูงบินใหม่ในปีนี้จะมีเครื่องบินมาทั้งหมด 4 แบบ ฝูงบินแรกได้แก่ แอร์บัส เอ330-300 (330-343HGW, 33H) ที่รับมอบมาแล้ว 3 ลำ (HS-TBA,B,C) และกำลังจะทยอยรับมอบตลอดทั้งปีให้ครบ 7 ลำ
เก้าอี้โดยสารชั้นประหยัดบนเครื่องบิน แอร์บัส เอ330-343HGW (33H) ที่ติดตั้งระบบความบันเทิง Panasonic Ex2
A320-200 : อีกฝูงบินหนึ่งคือฝูงบินที่ส่งมอบมาแล้ว 1 ลำและกำลังจะส่งมอบอีก 3 ลำในปีนี้ นั่นคือ แอร์บัส เอ320-200 ลำแรกได้มาถึงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ไปแล้ว โดยแอร์บัส เอ320 นี้จะมาในสีสันของไทยสมายล์ และเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกสู่มาเก๊าตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 โดยการออกแบบจะแตกต่างจากเครื่องบินลำอื่น ๆของการบินไทย โดยภายนอกจะมีลายริบบินและ และมีโลโก้คำว่า Smile ด้วยสีสันสดใส ให้ความรู้สึกสนุกไม่เป็นทางการเกินไป ส่วนในห้องโดยสารจะจัดที่นั่ง 174 ที่นั่ง ซึ่งสามารถจัดที่นั่งให้เป็นชั้น Smile Plus หรือชั้นธุรกิจ และ Smile หรือชั้นประหยัด โดยในส่วนที่เป็นชั้นธุรกิจจะมีการเว้นที่นั่งตรงกลางไว้เพื่อเพิ่มพื่นที่และความเป็นส่วนตัว และการตกแต่งก็เป็นเครื่องบินรุ่นแรกของการบินไทยที่ได้รับการออกแบบจาก PriestmanGoode
สีสันลวดลายบนเครื่องบินแอร์บัส เอ320-200(ไทยสมายล์)
ภายในห้องโดยสารของ แอร์บัส เอ320-200(ไทยสมายล์)
777-300ER : ในเดือนสิงหาคมก็จะมีการส่งมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่เราสั่งมาโดยตรง ทั้งหมด 8 ลำ โดยจะรับมอบมาประมาณ 3 ลำในปีนี้ ความพิเศษของ 777-300ER นั้นคือจะเป็นเครื่องบินรุ่นแรกของการบินไทยที่จะเริ่มให้บริการชั้นธุรกิจที่เป็นเก้าอี้แบบที่เป็นเก้าอี้เดี่ยว แต่เดิมนั้นในฝูงบินของเราจะจัดเรียงที่นั่งชั้นธุรกิจเป็นแบบเก้าอี้คู่ อาจจะ 2-2, 2-2-2, หรือ 2-3-2 แต่บน 777-300ER นี้จะเป็นเก้าอี้เดี่ยวที่ให้ความเป็นส่วนตัวสูง สามารถปรับเอนนอนได้ราบ 180 องศา มีจอภาพ 15 นิ้ว ในระบบ Panasonic Ex2 การจัดเรียงจะเป็น 1-2-1 แบบสลับฟันปลา และผู้โดยสารทุกที่นั่งจะเป็นที่นั่งติดทางเดินสามารถเดินเข้าออกได้โดยไม่ต้องรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น หากมาเป็นคู่ก็สามารถนั่งเป็นคู่ได้ หรือหากมาเดี่ยวก็จะสามารถนั่งที่นั่งเดี่ยวได้ และในชั้นธุรกิจนี้ก็จะมีห้องน้ำที่กว้างและใหญ่กว่าห้องน้ำปรกติอีกด้วย ส่วนเก้าอี้ในชั้นประหยัดนั้นก็จะมีจอภาพส่วนตัวแน่นอน พร้อมระบบสาระบันเทิงมากกว่า 1000 ชั่วโมง ซึ่งการรับโบอิ้ง 777-300ER ทั้งหมด 8 ลำนี้ก็เพื่อจะมาใช้แทน 777-300ER รุ่นที่เช่ามาจาก Jet Airways และก็เพื่อทดแทนโบอิ้ง 747-400 รุ่นที่ 1 (6 ลำแรก ทะเบียน HS-TGH,J,K,L,M,N) ซึ่งบางส่วนก็ได้ปรับให้การเป็นเครื่องขนส่งสินค้า(2 ลำ) และบางส่วนก็จะปลดออกจากฝูงไป
ที่นั่งชั้นธุรกิจบน โบอิ้ง 777-300ER และ แอร์บัส เอ380-800 ที่จะติดทางเดินทุกที่นั่งและนอนราบได้ 180 องศา
A380-800 : และสุดท้ายคือ แอร์บัส เอ380-800 ที่จะส่งมอบกันปลายเดือนกันยายนนี้ และเริ่มให้บริการในเดือนตุลาคม โดยในปีนี้จะรับมอบทั้งหมด 3 ลำจากจำนวน 6 ลำที่สั่ง โดยชั้นหนึ่งมีจำนวน 12 ที่นั่งจะเป็นเตียงนอนราบ 180 องศา มีแผงกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัวรอบที่นั่งแต่ไม่ได้ปิดกั้นจนเป็นห้อง ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับการเลือกที่นั่งชั้นหนึ่งบน 747-400 6 ลำหลัง (74N) มีจอภาพยนตร์ขนาด 23 นิ้ว มีแผงปรับไฟ mood lighting สีออกเป็นสีขาวนวลให้ความรู้สึกสบาย มี Royal First Class Bar อยู่ด้านหน้า สำหรับใช้บริการ หรือเดินยืดเส้นยืดสาย และมีพิ้นที่เอนกประสงค์ที่เรียกว่า Royal First Class Lounge สำหรับนั่งพักผ่อนหรือพูดคุยสังสรรค์ พร้อมห้องน้ำที่มีขนาดใหญ่มีพื้นที่แยกเป็น 2 ส่วนสำหรับการแต่งตัวและส่วนที่เป็นห้องน้ำ
ภาพกราฟฟิคแสดงถึงห้องโดยสารชั้นหนึ่งบน แอร์บัส เอ380-800
ภาพกราฟฟิคแสดงห้องน้ำของห้องโดยสารชั้นหนึ่งบนแอร์บัส เอ380-800
ที่นั่งชั้นหนึ่งของแอร์บัส เอ380-800 ขณะกำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งในโรงงานแอร์บัส เมืองฮัมบูร์ก
ในชั้นธุรกิจนั้นจัดที่นั่ง 60 ที่นั่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับบน 777-300ER คือทุกที่นั่งเป็นที่นั่งติดทางเดิน จัดเรียก 1-2-1 สลับฟันปลาในแต่ละแถว นอนราบได้ 180 องศา ส่วนชั้นประหยัดระยะห่างระหว่างแถวนั้นขั้นต่ำอยู่ที่ 32 นิ้ว (Seat Pitch) มีจอภาพส่วนตัวทุกที่นั่ง
ที่นั่งชั้นธุรกิจของแอร์บัส เอ380-800 ขณะกำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งในโรงงานแอร์บัส เมืองฮัมบูร์ก
ภาพจำลองที่นั่งชั้นประหยัดบน แอร์บัส เอ380-800
การปรับปรุงระบบ 3000i ให้มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับ Panasonic Ex2
หลังจากได้นำระบบ Ex2 มาใช้ในเครื่องบินลำใหม่ ๆ ที่รับมอบ การบินไทยก็ได้มีโครงการที่จะปรับปรุงระบบความบันเทิงบนเครื่องบินบางลำที่เป็นระบบ 3000i ให้มีรูปลักษณ์หน้าจอใกล้เคียงกับ Ex2 โดยมี Graphic User Interface ที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้ฝูงบินปัจจุบันล้อกับฝูงบินใหม่ และฝูงบินใหม่ก็ต้องล้อกับฝูงบินในอนาคต ซึ่งฝูงบินในอนาคตของการบินไทยนั้นก็ได้แก่โบอิ้ง 787-8 โบอิ้ง 787-9 และแอร์บัส เอ350-900
ภาพหน้าจอของระบบสาระบันเทิง Pansonic Ex2 (บนเครื่องแอร์บัส เอ330-300, 33H)
การบริการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต
บนแอร์บัส เอ380-800 และ เอ330-300 รุ่นใหม่ (33H) จะมีบริการที่เรียกว่า Connectivity ดำเนินการโดยบริษัท On-Air ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวได้ทั้งโทรเข้ารับสาย ส่ง SMS หรือจะใช้บริการข้อมูล (Data) หรืออินเตอร์เน็ต ส่วนบนโบอิ้ง 777-300ER และโบอิ้ง 747-400 6 ลำหลัง (74N) จะมีบริการคล้าย ๆ กันโดยบริษัท AeroMobile ซึ่งในขณะนี้กำลังขออนุมัติการให้บริการเหล่านี้จาก กสทช.อยู่
โครงการเกี่ยวกับการบริการอาหารบนเครื่องบิน
ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วโครงการบินไทยได้เริ่มโครงการ Celebrity Chef Gallery ซึ่งจะนำเชฟมาช่วยออกแบบอาหาร ช่วยดูแลเรื่องอาหารของการบินไทยจากจุดบินต่าง ๆ แล้วแต่ความถนัดของเชฟแต่ละคน อีกโครงการหนึ่งคือ Royal First Class & Royal Silk Class Pre-order meal โดยในส่วนของ Royal First Class นั้นมีจำนวน 42 รายการที่ผู้สามารถเลือกสั่งล่วงหน้าได้ แบ่งเป็น 22 รายการประจำที่จะมีตลอดทั้งปี และอีก 20 รายการที่สลับหมุนเวียนไป ส่วนชั้นธุรกิจนั้นมีทั้งหมด 8 รายการ และกำลังจะขยายในอนาคต โดยอาหารที่เราเลือกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมหรือเป็นอาหารโปรดประจำท้องถิ่น ซึ่งคนเดินทางนั้นมักจะชอบอาหารที่คุ้นเคย ยกตัวอย่างเช่นหากเป็นคนไทยต้องไปประชุมเดินทางที่ต่างประเทศ ขากลับเขาก็คงไม่ได้อยากรับประทานสเต็กหรือมักโรนี เขาก็อยากรับประทานอาหารไทยที่เป็นอะไรที่คุ้นลิ้นอย่างเช่น กระเพราไก่ไข่ดาว เราก็มีให้บริการ
อาหารบางส่วนที่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งสามารถเลือกสั่งล่วงหน้าได้
นอกจากอาหารที่สั่งล่วงหน้าได้แล้ว สำหรับอาหารที่เป็นรายการปรกติในเมนู สิ่งที่การบินไทยได้ทำคือในแต่ละเส้นทางที่บินไปในแต่ละเมือง จะพยายามใส่อาหารที่เป็นอาหารจานเด็ดในเมืองนั้น ๆ ลงไปในเมนู เช่นในเส้นทางญี่ปุ่นหนึ่งในตัวเลือกก็ต้องมีอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเราก็ต้องไปหาอาหารที่เหมือนกับ “กระเพราไก่ไข่ดาว” ของคนไทยให้กับคนในภูมิภาคนั้น ๆ แต่ละเส้นทางที่บินไป ซึ่งเป็นอาหารที่เรียกได้ว่า Good Basic Local Favorite ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องเป็นอาหารที่ดูหรูหรา แต่เป็นอาหารที่คนในแต่ละพื้นที่ชื่นชอบและคุ้นเคย ทานเป็นประจำ
ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทั้งเทศกาลของไทยและเทศกาลที่เป็นสากล การบินไทยก็ยังจัดทำอาหารพิเศษประจำเทศกาล นอกจากนั้นแล้วเรายังกำลังมองว่าในระดับเทศกาลประจำภูมิภาค เราจะจัดอาหารพิเศษประจำเทศกาลในแต่ละภูมิภาค เช่นในเทศกาล Deepawali ของชาวอินเดีย เราก็อาจจะจัดทำขนมแบบอินเดียขึ้นเครื่องบินเส้นทางไปยังอินเดียให้ผู้โดยสารรู้สึกประทับใจหรือที่เรียกว่า Customer Delight เป็นต้น
อาหารจานพิเศษประจำถิ่นในช่วงเทศกาล (ในภาพเป็นอาหารอินเดีย)
เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านเมื่ออ่านจบแล้วคงรอคอยที่จะได้ยลโฉมฝูงบินของการบินไทยและผลิตภัณฑ์การบริการต่าง ๆ ที่กำลังมีการปรับปรุงพัฒนามากมาย อย่างที่คุณกฤตพลได้เล่าให้พวกเราฟังไปแล้วนะครับ ทางทีมงานเอชไฟลท์ก็ต้องขอขอบคุณคุณกฤตพล และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการบินไทยที่ได้ให้เกียรติและสละเวลาให้สัมภาษณ์ลงในคอลัมน์ HFLIGHT INSIGHT ครับ
HFLIGHT INSIGHT ย้อนหลัง
13- Nicky994 ผู้คว้ารางวัลแฟนพันธุ์แท้การบินไทย กับการรอคอยตลอดเวลา 7 ปี
12- เจาะลึก THAI Smile กับกัปตันวรเนติ หล้าพระบาง บอสใหญ่ของการบินไทยสมายล์
11 - Madam_X ป้าเอ๊ะ มาพร้อมกับเรื่องราวของ Agent และของรางวัลมาแจก ไปพบกับป้าเอ๊ะ สมาชิกดาวเขียวยุคบุกเบิกของเอชไฟลท์
10 - ไปชมงาน Singapore Airshow 2012 นิทรรศการการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ASIA'S BIGGEST FOR AVIATION'S FINEST
9 - Aod สมาชิกHFชาวลาวเปิดใจรีวิว 2 ภาษาและมุมมองการบินในลาว ข้ามโขงเยือนเวียงจันทน์ ชมความงามและอัธยาศัยบ้านพี่เมืองน้อง
8 - bualoy หนุ่มหาดใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโปร ขอพาไปแอ่ว เชียงใหม่ เชียงใหม่อะไรเด็ด อะไร In ต้องมาดู
7 - พาไปตะลุยงาน The Essence of Thailand, Brussels ไปดูชีวิตไทยและการรวมตัวของชุมชนชาวไทยในต่างแดน
6 - คุณ luie และแม่ประนอม แบรนด์รีวิวต้องมีโลโก้ กับแนวคิดการท่องเที่ยว รีวิวทำไมต้องยี่ห้อแม่ประนอมกับแนวคิดการท่องเที่ยวให้มีความสุข
5 - 001 JZ Team ช่างภาพฝีมือเยี่ยม กับประสบการณ์จากการทำนิตยสารด้านการบิน นักถ่ายภาพ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการบิน กับผลงานมากมาย
4 - porinter สดจาก Sydney ผู้ก่อตั้ง HFLIGHT กับประสบการณ์งานสายการบิน และชีวิตในต่างแดน จากพนักงาน Ground Staff พนักงานโรงแรม สู่ชีวิตนักเรียนนอก
3 - หนุ่มเมืองกรุง กูรูอารยธรรม กับประสบการณ์การเดินทางที่ไม่เหมือนใคร รู้จักผู้ที่หลงใหลในสเน่ห์ของอารยธรรมโบราณ และค้นหาที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ
2 - ChAzZaNoVa ลุงแชสเจ้าพ่อรีวิว กับมาดใหม่ในชุดลูกเรือ สัมภาษณ์พิเศษแบบ INSIGHT ที่บินไปสัมภาษณ์ไปกลางอากาศ
1 - ยุ่งชะมัด..สัตวแพทย์ .. มารู้จักหมอยุ่ง ในแบบ Insight ครั้งแรกกับคอลัมน์สัมภาษณ์ใน HFLIGHT.net กับ 1 ใน Founder ของเรา