HFLIGHT INSIGHT
โดย JK..LSKY
สวัสดีครับ กลับมาพบกับ HFLIGHT INSIGHT กันอีกครั้ง เดือนนี้อาจจะมาสายไปสักหน่อย แต่ว่าเรื่องราวน่าสนใจแน่นอนครับ
ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการบริการสายการบินชื่อใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ “การบินไทยสมายล์” เชื่อว่าหลายคนคงจะได้ยินชื่อหรือเรื่องราวของชื่อนี้มาบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่หรือเข้าใจเกี่ยวกับ “ไทยสมายล์” มากนักว่า นี่คือ สายการบินใหม่ใช่หรือไม่ เป็นสายการบินแบบไหน เป็นสายการบินพรีเมียมหรือสายการบินโลวคอสต์ และทำไมต้องมี “ไทยสมายล์” มากไปกว่านั้นหลายคนคงอยากรู้ว่า “ไทยสมายล์” จะบินไปไหนบ้าง หน้าตาจะเป็นอย่างไร ให้บริการอะไรบ้าง
วันนี้ทีมข่าวHFLIGHT จะพาไปหาคำตอบเหล่านี้และรู้จัก “ไทยสมายล์” ให้มากขึ้น กับกัปตัน วรเนติ หล้าพระบาง กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
แนวคิดในการเริ่มให้บริการไทยสมายล์นี่มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ
ก่อนอื่นขอเรียนก่อนว่าไทยสมายล์ไม่ใช่สายการบินใหม่ เราไม่ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทหรือสายการบินใหม่ ไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศใหม่ (AOC) เพียงแต่เราวางรูปแบบไว้เป็นบริการอีกรูปแบบหนึ่งของการบินไทย เป็น sub-brand (ตราสัญลักษณ์ย่อย) ของการบินไทย โดยโครงสร้างแล้วจะเป็นหน่วยธุรกิจหรือ Business Unit อยู่ในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้วเที่ยวบินก็ยังใช้รหัส TG เหมือนกับทุกเที่ยว ๆ บินของการบินไทย หรือจะพูดอีกอย่างคือ การบินไทยสมายล์ คือการบินไทยในเวอร์ชันวัยรุ่น
ที่มาก็คงมาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ก็คือลูกค้าทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ในภาคสายการบิน แต่ในทุกภาคธุรกิจ ก็จะมีการแบ่งส่วนหรือ Segment กันออกไป ลูกค้าก็รู้จักเลือกว่าสินค้าประเภทไหนเหมาะกับความต้องการของตัวเอง ยกตัวอย่างอย่างธุรกิจค้าปลีกก็มีการแบ่ง Segment ก็มีทั้งร้านค้าปลีกสะดวกซื้ออย่าง 7-11 หรือ Lotus Express (Convenience Store) มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermart) หรือห้างแบบ Department Store แบบเซ็นทรัลหรือโรบินสัน มีห้างสรรพสินค้าสำหรับแบรนด์ที่สูงขึ้นไปอย่างพารากอน หรือเกษร ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มที่เข้า 7-11 จะไม่เข้าพารากอน ก็จะมีการคาบเกี่ยวกันหรือ Overlap กัน แต่ว่าเขาก็จะเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลัก ธุรกิจการบินก็เช่นกันทุกวันนี้ก็แบ่งเป็นสายการบินแบบพรีเมียม(Premium) มีสายการบินต้นทุนต่ำหรือ Low Cost ลูกค้ากลุ่มพรีเมียมก็จะใช้บริการแบบพรีเมียมเป็นหลัก เช่นเดียวกันลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคาก็จะใช้โลวคอสต์มาก แต่แน่นอนว่าแบรนด์เพียงแบรนด์เดียวนั้นไม่สามารถจับตลาดได้ทุกกลุ่ม
การบินไทยเป็นแบรนด์ที่เป็นพรีเมียม ให้บริการโครงข่ายในระดับโลก แบรนด์ของการบินไทยเราขายได้ดีในระยะทางไกล ๆ เช่นยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งแบรนด์เราเป็นที่ยอมรับ การบินไทยเราขายความเป็นไทยหรือ Touches of Thai ลูกค้ายุโรปจะมาเที่ยวเมืองไทย ก้าวขึ้นเครื่องก้าวแรกก็จะได้สัมผัสความเป็นไทย และเราก็ให้บริการอย่างเต็มที่ในระยะทางไกล ๆ
แต่ในระยะทางใกล้ ๆ อย่าง 2-3 ชั่วโมง ด้วยความที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ประเทศในเอเชียด้วยกัน ความเป็นไทยก็อาจจะขายได้น้อยกว่า ดังนั้นในระยะการบินใกล้ ๆ ลูกค้าก็จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของการบริการน้อยลงแต่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของราคามากขึ้น
ที่มาของไทยสมายล์จึงมาจากความต้องการตรงนี้ที่เราดูแล้วว่าความต้องการของลูกค้าไม่สามารถรองรับได้ด้วยแบรนด์ของการบินไทยแบรนด์เดียว จึงต้องมีการออก Sub-brand มาซึ่งจะตอบสนองความต้องการของลูกค้า
เมื่อลูกค้าต้องการความคุ้มค่า เราก็จะให้ความคุ้มค่าอาจจะแลกกับการบริการที่ลดลงมาบ้างเมื่อเทียบกันสายการบินพรีเมียม แต่ถ้าเมื่อเทียบกับสายการบินต้นทุนต่ำ เราก็จะให้ความคุ้มค่ากว่าในราคาที่ใกล้เคียงกัน เพราะเราจะมีการบริการหลาย ๆ อย่างที่รวมอยู่ในค่าตั๋วแล้ว มีน้ำหนักสัมภาระ 20 กิโลกรัม มีของว่างบริการ เลือกที่นั่งได้ฟรี หากเป็นสมาชิกรายการสะสมไมล์ ROP ก็สามารถสะสมไมล์ได้ ซึ่งลูกค้าบางส่วนที่ปัจจุบันเดินทางกับสายการบินต้นทุนต่ำก็อาจจะไม่ได้ชื่นชอบลักษณะบางอย่างของสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างการที่ต้องเสียค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มเช่น ค่าสัมภาระ เลือกที่นั่ง นอกจากการให้บริการที่จะเหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำแล้วเรายังให้รูปลักษณ์ที่ สดใส ทันสมัยหรือ เทรนดี ใช้พนักงานต้อนรับที่เป็นคนรุ่นใหม่ แสดงถึงความสดใส
โครงสร้างที่เรียกว่า Business Unit หรือหน่วยธุรกิจ นี่เป็นอย่างไรครับ มีความสัมพันธ์กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อย่างไร
ในเชิงบัญชีที่รายงานต่อบุคคลภายนอกหรือตลาดหลักทรัพย์ เราจะรวมอยู่ในบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แต่ในเชิงการบริหารจัดการภายใน หรือบัญชีภายใน เราจะแยกจากการบินไทยเพื่อให้เห็นว่าประสิทธิภาพของไทยสมายล์เป็นอย่างไร ในแง่บริกหารเราก็แยกตัวบุคคลออกมา แยกบุคลากรออกมา แยกที่ตั้งในเชิงกายภาพของสำนักงานออกมาแต่ว่าเรายังใช้ทรัพยากรหลาย ๆ อย่างร่วมกับการบินไทย การตั้งหน่วยธุรกิจแบบนี้ เป็นวิธีการที่ค่อนข้างปลอดภัย มีข้อดีหลายอย่าง เช่น หนึ่งก็คือทำได้เร็ว เพราะเป็นเรื่องการจัดการภายในของการบินไทย ไม่ต้องขอใคร ไม่ต้องตั้งบริษัทไม่ต้องขอใบอนุญาตการบินใหม่ สองก็คือเรื่องการใช้ทรัพยากร ในเบื้องต้นเรามีเครื่องบินแค่ 4 ลำ เราก็คงมีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะตั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายต่าง ๆ มากมาย พนักงานในสำนักงานของไทยสมายล์เรามีแค่ 30 คน กับการบริหารเครื่องบิน 4 ลำ แต่ถ้าจะไปตั้งสายการบินใหม่ในวันนี้ที่จะบริหารเครื่องบิน 4 ลำและจะขยายเป็น 11 ลำในอนาคต ก็ต้องใช้พนักงานหลายร้อย แต่เรามีแค่ 30 คน เพราะเราสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกับการบินไทยได้ การลงทุนก็ต่ำมาก แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มนอกจากเครื่องบิน ระบบการขายการสำรองที่นั่งเราก็ใช้ Booking Engine และ inventory System ร่วมกับการบินไทย แม้จะมีการเปิดเว็บไซต์ใหม่คือ thaismileair.com ก็ใช้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต่ำมากเพราะยึดโครงเดิมของการบินไทย ระบบ IT ในการบริหารงานลูกเรือ ระบบ IT ในการควบคุมการจัดการเที่ยวบินก็ใช้ร่วมกับการบินไทย พื้นที่สำนักงานก็ใช้ของการบินไทยที่ไม่ได้ใช้ หรือที่ว่างอยู่
กัปตันวรเนติ และลูกเรือไทยสมายล์ในเครื่องแบบชุดกระโปง
แล้วแบบนี้ไทยสมายล์จะวางตำแหน่งในตลาดของตัวเองไว้อย่างไร จะแข่งกับสายการบินต้นทุนต่ำด้วย แต่ก็จะทำตลาดแบบพรีเมียมด้วย
ตำแหน่งของเราอยู่ตงกลางระหว่างสองกลุ่ม (Segment) นี้ ถ้าเราเป็นพรีเมียมเลยเหมือนการบินไทยก็ไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างแบรนด์ไทยสมายล์ขึ้นมา เราก็อยู่ในกลุ่ม light-premium คือต่ำกว่าพรีเมียม แต่ก็ยังอยู่เหนือสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้จะแข่งราคากับสายการบินต้นทุนต่ำ สำหรับลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคาจริง ๆ หรือปรับตัวและยอมรับกับลักษณะแนวคิดของสายการบินต้นทุนต่ำจริง ๆ ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรา แต่เราต้องการลูกค้ากลุ่มบน ๆ ของสายการบินต้นทุนต่ำ
การกำหนดราคาของไทยสมายล์เป็นอย่างไรครับ
ราคาของเราจะไม่ได้มีราคาประเภทถูกมาก ๆ แบบสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่มีโปรโมชันราคา 0 บาท แต่หากเรามีโปรโมชันเราก็จะมีโปรโมชันที่มีเหตุผล ไม่ได้ถูกโอเวอร์ ในขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างราคาต่ำสุดกับราคาสูงที่สุดของเราก็ไม่ได้กว้างเท่าสายการบินต้นทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วก็จะไม่ได้ห่างจากระดับราคาทั่วไปของสายการบินต้นทุนต่ำมากนัก
การแบ่งราคาของเราก็ยังแบ่งด้วย Booking Class มีที่นั่งจำกัดในแต่ละระดับ Booking Class เช่นเดียวกับสายการบินทั่วไปหรือว่าสายการบินต้นทุนต่ำก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งสัดส่วนที่นั่งในแต่ละ Booking Class ก็จะเป็นไปตามสภาวะของตลาด เช่นเดียวกับธุรกิจการบิน หรือธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวทั่วไป ในช่วงที่เป็นหน้าไฮซีซันสัดส่วนราคาถูกก็จะน้อย แต่ถ้าโลว์ซีซันสัดส่วนราคาถูกก็จะมาก หรือช่วงเปิดตัวที่คนยังไม่รู้จักราคาถูกก็จะมาก หรือจองล่วงหน้านาน ๆ ก็จะได้ราคาถูก
คิดว่าในตำแหน่งในตลาดแบบนี้มีฐานลูกค้ามากน้อยแค่ไหนครับ
อย่างที่กล่าวไปคือแม้การแบ่งกลุ่ม (Segment) ของลูกค้าจะชัดเจนมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าลูกค้าที่บินสายการบินต้นทุนต่ำ จะไม่บินสายการบินพรีเมียมอย่างการบินไทยเลย แต่กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มที่เป็นลูกค้าที่อยู่กับสายการบินพรีเมียมเดิมแต่ยอมลดการคุณภาพการลงมานิดหน่อย และก็ยังรับได้หรือมีความสุขกับผลิตภัณฑ์ของเรา หรือลูกค้ากลุ่มบน ๆ ของกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำที่พร้อมจะจ่ายแพงกว่าอีกนิดหน่อยเพื่อให้ได้การบริการที่มากขึ้นดีขึ้น
โมเดลนี้ไม่ใช่โมเดลใหม่ หากมองดูสายการบินรอบข้างแล้วก็จะเห็นอย่าง Singapore Airlines ก็มีสายการบิน Silk Air มาหลายสิบปีแล้ว และก็ใช้ Silk Air เป็นเครื่องมือในการขยายไปยังตลาดในภูมิภาค (regional)ใกล้ ๆ แล้วใช้ Singapore Airlines ในการทำตลาดใหญ่หรือตลาดระยะไกล หรือโมเดลของ Cathay Pacific กับ Dragonair ที่ใช้ Dragonair ทำตลาดในภูมิภาคไปยังประเทศจีน และเขาก็ประสบความสำเร็จกันทั้งคู่
โมเดลของไทยสมายล์กับการบินไทยก็เช่นเดียวกัน เราก็จะอยู่ที่สุวรรณภูมิไม่ไปดอนเมือง เพราะเราต้องการให้บริการโครงข่ายเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting Flight) กับการบินไทยด้วย
ถ้าวางรูปแบบไว้อย่างนี้แล้วหมายความว่าเส้นทางการบินของการบินไทยกับไทยสมายล์ก็จะไม่ทับกันเองด้วยใช่ไหมครับ
ก็จะไม่ทับกันเองในแง่ของจุดหมายปลายทางและเวลาตารางการบิน อาจจะเห็นบางเส้นทางที่มีทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ แต่อย่างไรก็ตามจะไม่บินออกในเวลาเดียวกันแน่น่อน
ลักษณะการบริการบนเครื่องเป็นอย่างไรครับ
เที่ยวบินของเราเป็นเที่ยวบินสั้น ๆ เรื่องที่นั่งในห้องโดยสารเราก็จะเน้นการออกแบบให้เข้ากับรูปแบบของการบินไทยสมายล์คือเทรนดี และก็จะใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ320 เป็นเครื่องที่สั่งมาใหม่ ที่นั่งจะเป็นชั้นประหยัดทั้งหมด ที่นั่งจะหลวมกว่าสายการบินต้นทุนต่ำเล็กน้อย อย่างสายการบินต้นทุนต่ำใช้ 180 ที่นั่ง เราก็ใช้ 174 ที่นั่งหายไป 1 แถว ก็มีที่ว่างมากขึ้นนิดหน่อยไม่ถึงกับมากนัก ในเรื่องการออกแบบภายในเราใช้บริษัท Priestmangoode ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบของอังกฤษมาออกแบบภายให้
ด้านการบริการบนเครื่อง บนห้องโดยสารของไทยสมายล์จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเราเรียกว่า Smie Plus ก็เหมือน EconomyPlus ที่มีระยะห่างระหว่างที่นั่งมากขึ้นอีกหน่อยและก็มีบริการมากขึ้นอีกหน่อย ส่วนด้านหลังเรียกว่า Smile ธรรมดา
เรื่องการบริการอาหารเครื่องดื่มก็จะเปลี่ยนแนวออกไป แทนที่จะเสริฟอาหารร้อน(Hot Meal) เราก็จะให้ Snack Pack เรียกว่า Smile Pack อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ดีไซน์สวยงาม ข้างในก็จะมีเครื่องดื่มและขนม ซึ่งก็มีพอรองท้องไม่ได้มากมายอะไรนักเพราะเวลาบินนั้นสั้น แต่ถ้าต้องการเพิ่มเติมเราก็จะมีจำหน่ายบนเที่ยวบิน ตัว Smile Pack ลูกค้าก็สามารถนำลงจากเครื่องไปฝากคนอื่นได้ อันนี้เป็นส่วนของ Smile ธรรมดา ส่วนของ SmilePlus เราก็จะเป็นกล่องเรียกว่า Smile Box ซึ่งจะเป็น Cold Meal เป็นแซนด์วิช ขนมและเครื่องดื่ม
เครื่องบินแอร์บัส เอ320 ลำแรกที่จะนำมาให้บริการในรูปแบบไทยสมายล์ กำลังเข้าสู่สายการผลิตขั้นสุดท้าย(Final Assembly Line) ในโรงงานแอร์บัสเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี
วางแผนว่าจะใช้เครื่องบินแบบ A320 ในการทำฝูงบินเพียงแบบเดียวใช่ไหมครับ ทำไมถึงเลือกแอร์บัส เอ320
ก็น่าจะใช้เครื่องบินแบบเดียวในฝูง จริง ๆ แล้วประสิทธิภาพของโบอิ้ง 737NG กับ A320 นั้นแตกต่างกันไม่มาก เราได้ทำการเปรียบเทียบกันแล้วพบว่าไม่ต่างกันมาก Cost Per Flight หรือ ต้นทุนต่อเที่ยวบิน กับCost Per Seat หรือต้นทุนต่อที่นั่งแตกต่างกันแค่นิดเดียวไม่กี่เปอร์เซ็นต์ การซ่อมบำรุงทั้งคู่ก็ไม่มีปัญหาเพราะใช้กันเยอะ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัจจัยให้ตัดสินใจก็คือราคาซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้วย ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้ทั้ง 737 และ A320 แต่ในนาทีที่เราเลือกเครื่องบินตลาดของ A320 มีเยอะกว่าและเสนอราคาที่ดีกว่า และตัว A320 เองตอนนั้นมีรุ่นที่จะใช้ Sharklets ออกมาแล้วจะได้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป และทางแอร์บัสก็อ้างว่าตัว Sharklets จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ ร้อยละ 1.5 และ A320 ยังมีศักยาภาพที่จะใส่ ULD (Unit Load Device บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สินค้า) และ Cargo Palette ได้ แต่จะเป็น ULD ขนาดเล็ก แต่ว่าลำที่เราสั่งมาจะยังไม่มีตัว ULD เพราะ A320 อาจจะเล็กไปหน่อยหากจะทำ Cargo ไปด้วย แต่ถ้าในอนาคตหากเราจะเลือก A321 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเราก็จะใช้ ULD และให้บริการทั้งขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปพร้อม ๆ กันได้ ในขณะที่ตัว 737 เองมีแต่ Bulk Load
แนวคิดในการออกแบบชุดลูกเรือมีที่มาที่ไปอย่างไรครับ
เราต้องการเปลี่ยนรูปลักษณ์ อย่างที่บอกไปคือเราเป็นลักษณะวัยรุ่นมากขึ้น สดใสมากขึ้น มาจากลักษณะของแบรนด์ของเราคือ Friendly Trendy และ Worthy ซึ่งเราสื่อออกมาจากโลโก้ของไทยสมายล์เป็นอันดับแรก โลโก้ของเรามี 4 สี 3 สีแรกเป็นสีเดียวกับการบินไทย คือ ม่วง เหลืองทอง และชมพู เพื่อบ่งบอกว่าเราเป็นการบินไทย และเรามีสีที่เติมเข้าไปคือสีส้ม เพื่อบ่งบอกถึงความสดใส และเราก็นำมาใช้เป็นสีหลักของเครื่องแบบลูกเรือ ส่วนคำว่า Smile เราก็เลือกแบบกันอยู่นานว่าเขียนคำว่า Smile อย่างไรให้สื่อถึงสีสันและความขี้เล่นสดใส
เครื่องแบบลูกเรือเราก็ทำถึง 3 แบบคือ กางเกงขาสั้น กางเกงขายาว และกระโปง ซึ่งลูกเรือก็สามารถเลือกใส่ได้ตามอัธยาศัย ที่เราทำแบบนี้เพื่อบ่งบอกถึงความคล่องตัว ความกระฉับกระเฉง เราใช้สีส้มเป็นหลักและนำสามสีที่เหลือมาใช้ในเข็มขัดและผ้าพันคอ ตัวเครื่องแบบได้รับการออกแบบร่างเบื้องต้นโดย Priestmangoode เช่นเดียวกัน และให้ Production House ของเมืองไทยออกแบบต่อ
ลูกเรือไทยสมายล์ในเครื่องแบบกางเกงขาสั้นและกางเกงขายาว
ตอนนี้เส้นทางเดียวที่ประกาศอย่างเป็นทางการและจำหน่ายตั๋วแล้วคือมาเก๊า มีแผนในการขยายเส้นทางอย่างไรบ้างครับ
มองแผนระยะยาวของไทยสมายล์ก่อนดีกว่า เราวางตำแหน่งของเราไว้เป็น Regional Air service หรือตลาดในระดับในภูมิภาค สำหรับตลาดในประเทศเราค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว มีการบินไทยครอบคลุมในประเทศ 10 เส้นทาง มีนกแอร์ที่การบินไทยถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ ช่วยครอบคลุมเส้นทางที่ดอนเมืองอีก สิบกว่าเส้นทาง แต่ที่เราเป็นห่วงคือเส้นทางในระดับ Regional ในปี 2015 -2016 จะมีการเปิดเสรีการบินอาเซียน ซึ่งการบินไทยก็โชคดีที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทั้งคนอยากมาเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมระดับโลกมากมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นแง่ลบที่เราอยู่ในประเทศที่ใคร ๆ ก็อยากมาเพราะว่าทำให้เรามีคู่แข่งเยอะแยะมากมาย กรุงเทพฯมีสายการบินใหม่ ๆ เข้ามาทุกปี เมื่อเปิดเสรีการบินอาเซียน ก็จะทำให้ประเทศในอาเซียนที่มีสายการบินที่แข็งแกร่งได้เปรียบมากขึ้น เห็นได้ชัดคือสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีสายการบินในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งมาก เมื่อถึงวันนั้นเขาสามารถทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศระหว่างเมืองในอาเซียนโดยไม่จำกัดเที่ยวบินไม่จำกัดจำนวนที่นั่ง ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางกรุงเทพฯ – ย่างกุ้ง ทุกวันนี้ก็มีสายการบินของไทย กับสายการบินของพม่า ทำการบินโดยใช้สิทธิการบินของแต่ละประเทศ แต่ปี 2016 สายการบินของประเทศอื่น ๆ ของสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เขาบอกว่าอยากบินกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ก็ได้ เราก็ต้องสนับสนุนธุรกิจการบินของไทยให้แข็งแกร่ง การเปิดเสรีการบินอาเซียนเป็นทั้งโอกาสและจุดอ่อนไปในตัว ถ้าเราแข็งแกร่งเราก็จะสามารถไปแย่งเค้กที่อื่นได้ด้วย
วันนั้นเราก็คงจะมีทั้งคู่แข่งรายเก่าและคู่แข่งรายใหม่ คู่แข่งรายเก่าอย่างทุกวันนี้ก็มีทั้งสายการบินในลักษณะแฟรนไชส์ที่ตั้งสายการบินสาขาในประเทศต่าง ๆ ดังนั้นเป้าหมายของเราก็ต้องการจะทำการบินในระดับภูมิภาคเส้นทางระหว่างประเทศราว 70 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 พื้นที่ คืออาเซียน จีนและอินเดีย จะมีทั้งเส้นทางที่ไปบินแทนการบินไทย และเส้นทางใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา
ในปีนี้ก็คงจะเป็นมาเก๊าอย่างเดียวก่อน แต่รอบ ๆ ยังมีโอกาสมากมาย ในอาเซียนเองก็มีทั้งดานัง มัณฑะเลย์ หลวงพระบาง สุราบายา เมดาน เซบู ที่เราคิดว่าเราอยากจะไป อาจจะไม่ใช่ทุกเส้นทางแต่เส้นทางเหล่านี้มีศักยภาพใน 4-5 ปีนี้ก็น่าจะได้เห็นในโครงข่ายการบินของไทยสมายล์ ในอินเดียอีกหลายเมือง ในเมืองจีนก็อย่างเสิ่นเจิ้น ฉ่งชิ่ง หนานหนิง หรือเกาชุงในไต้หวัน แต่การเปิดเส้นทางใหม่ ๆ ก็มีความเสี่ยงดังนั้นในช่วงแรก ๆ เรากำลังตั้งตัวก็ต้องไปแบบให้มีความมั่นคง ในปีนี้หลังจากมาเก๊า เครื่องบินอีกสามลำก็จะบินในประเทศก่อน ซึ่งที่เราเลือกบินในประเทศก็มีเหตุผลหลัก ๆ สองอย่างคือ หนึ่งเสียงเรียกร้องจากสถานีต่างจังหวัดที่บอกว่ามีบริการที่ถูกกว่า เครื่องบินก็ใหม่นำมาให้คนไทยใช้ก่อนได้ไหม อย่างที่สองคือเราต้องการสร้างฐานลูกค้าให้แน่น ๆ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกับคนไทยก่อนจะออกไปต่างประเทศ เดือนสิงหาคมเราก็จะเริ่มบินกระบี่แทนการบินไทย และก็จะเริ่มบินสุราษฎร์แทนการบินไทย กระบี่เราให้ความสำคัญมากเพราะเป็นเมืองที่มีศักยภาพ ปัจจุบันการบินไทยบินด้วยเครื่องลำตัวกว้างสองเที่ยวบิน เราจะเปลี่ยนเป็นเครื่องลำตัวแคบแต่จะเพิ่มความถี่ที่เยอะขึ้น มีความจุที่นั่งรวมเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วงโลว์ซีซันจะมี 4 เที่ยวพอช่วงไฮซีซันก็จะเป็น 5 เที่ยว ส่วนสุราษฎร์ธานีนั้นจะบิน 2 เที่ยวต่อวัน เข้าไปแทนการบินไทย แล้วเราก็จะมีเส้นทางข้ามภาค คือระหว่างเชียงใหม่กับภูเก็ต และก็มีกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ 2 เที่ยว กรุงเทพฯ-ภูเก็ต 2 เที่ยว ในช่วงเวลาที่สับหลีกกับการบินไทย ส่วนปี 2556 จะมีเครื่องบินเพิ่ม 2 ลำตั้งแต่ต้นปี ก็จะเพิ่มเส้นทางระหว่างประเทศแน่นอน
แบบนี้มีโอกาสที่จะขยายไปบินในประเทศอื่น ๆ หรือทำแบบแฟรนไชส์ไหมครับ เมื่อเปิดเสรีการบินอาเซียนในปี 2016
โมเดลที่วางไว้คงไม่ได้เป็นแฟรนไชส์ เพราะเราเป็นแบรนด์ที่เป็น Regional ให้กับการบินไทยเป็นแบรนด์ไทย หากจะทำแบบแฟรนไชส์การทำแบรนด์ต้องทำอีกลักษณะคือเป็นแบรนด์ของอาเซียน หรือแบรนด์ในระดับภูมิภาค
HFLIGHT INSIGHT ย้อนหลัง
11 - Madam_X ป้าเอ๊ะ มาพร้อมกับเรื่องราวของ Agent และของรางวัลมาแจก ไปพบกับป้าเอ๊ะ สมาชิกดาวเขียวยุคบุกเบิกของเอชไฟลท์
10 - ไปชมงาน Singapore Airshow 2012 นิทรรศการการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ASIA'S BIGGEST FOR AVIATION'S FINEST
9 - Aod สมาชิกHFชาวลาวเปิดใจรีวิว 2 ภาษาและมุมมองการบินในลาว ข้ามโขงเยือนเวียงจันทน์ ชมความงามและอัธยาศัยบ้านพี่เมืองน้อง
8 - bualoy หนุ่มหาดใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโปร ขอพาไปแอ่ว เชียงใหม่ เชียงใหม่อะไรเด็ด อะไร In ต้องมาดู
7 - พาไปตะลุยงาน The Essence of Thailand, Brussels ไปดูชีวิตไทยและการรวมตัวของชุมชนชาวไทยในต่างแดน
6 - คุณ luie และแม่ประนอม แบรนด์รีวิวต้องมีโลโก้ กับแนวคิดการท่องเที่ยว รีวิวทำไมต้องยี่ห้อแม่ประนอมกับแนวคิดการท่องเที่ยวให้มีความสุข
5 - 001 JZ Team ช่างภาพฝีมือเยี่ยม กับประสบการณ์จากการทำนิตยสารด้านการบิน นักถ่ายภาพ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการบิน กับผลงานมากมาย
4 - porinter สดจาก Sydney ผู้ก่อตั้ง HFLIGHT กับประสบการณ์งานสายการบิน และชีวิตในต่างแดน จากพนักงาน Ground Staff พนักงานโรงแรม สู่ชีวิตนักเรียนนอก
3 - หนุ่มเมืองกรุง กูรูอารยธรรม กับประสบการณ์การเดินทางที่ไม่เหมือนใคร รู้จักผู้ที่หลงใหลในสเน่ห์ของอารยธรรมโบราณ และค้นหาที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ
2 - ChAzZaNoVa ลุงแชสเจ้าพ่อรีวิว กับมาดใหม่ในชุดลูกเรือ สัมภาษณ์พิเศษแบบ INSIGHT ที่บินไปสัมภาษณ์ไปกลางอากาศ
1 - ยุ่งชะมัด..สัตวแพทย์ .. มารู้จักหมอยุ่ง ในแบบ Insight ครั้งแรกกับคอลัมน์สัมภาษณ์ใน HFLIGHT.net กับ 1 ใน Founder ของเรา