อะไหล่ขาด-บริหารแย่ 'แอร์พอร์ตลิงค์'ส่อเจ๊ง
อีก2เดือนไม่แก้-หยุดวิ่ง คนกรุงสวดยับ10จุดอ่อน ชง'รฟท.-พท.'สางปัญหา
'แอร์พอร์ตลิงก์'ระส่ำ ขาดเงิน-อะไหล่ซ่อม ขอทุนหมุนเวียน 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ได้แค่ 140 ล้าน ระบุผู้บริหาร รฟท.แจ้ง'คลัง'เงินส่วนที่เหลือ โดนปัด
คาดไม่เกิน 2 เดือนอาจหยุดวิ่ง เร่ง' ปธ.บอร์ด' รฟท.-รบ.ใหม่แก้ไข ขณะที่ประชาชนด่าขรมการจัดการด้านบริการแย่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานกรุงเทพมหานคร (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) เปิดให้บริการเต็มรูปแบบวันแรกเมื่อ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2553
เป็นต้นมาจน ถึงขณะนี้เกือบจะครบหนึ่งเต็ม แต่ปรากฏว่าปัญหาต่างๆ ได้เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมายโดยเฉพาะเงินทุนหมุนไม่มีทำให้ขาดสภาพคล่อง
แหล่งข่าวระบุว่า ในการตรวจสอบด้านบริหารจัดการภายในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
และเป็นบริษัทดูแลโครงการดังกล่าวพบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยที่ ผ่านมา บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จะต้องได้รับ เงินในวงเงิน 2,000 ล้านบาท
เพื่อใช้เป็น เงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ล่าสุด เมื่อ วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับงบฯมาเพียง 140 ล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า เงินส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,860 ล้านบาทนั้น ทางนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท
หารือกับกระทรวงการคลังมาโดยตลอด แต่ได้รับการปฏิเสธ กระทรวงการคลังอ้างว่าจะต้องพิจารณาผลการดำเนินการก่อนที่จะอนุมัติวงเงินให้
"ก่อนหน้านี้วงเงินที่จะมาใช้ภายในบริษัท ต้องผ่านทางสถาบันศศินทร์ ผู้รับช่วงดำเนินงานทำให้ขาดความคล่องตัว และสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้สถาบันศศินทร์จะหมดสัญญา
งานต่างๆ ต้องโอนเข้าไปยัง ร.ฟ.ท. ทำให้เกรงว่าการทำงานของโครงการนี้อาจจะขาดความคล่องตัวเหมือนกับการบริหารงานใน ร.ฟ.ท.ที่ยังมีความล่าช้า
และอาจจะถูกมองว่ามีความไม่โปร่งใส" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามีอยู่ 4 ประการคือ
1.อัตรากำลังไม่เพียงพอเพราะที่ผ่านมาพนักงานลาออกไปประมาณ 80-90 คนและยังไม่รับพนักงานเพิ่มเนื่องจากไม่มีความมั่นใจถึงความมั่นคงของการทำงานในอนาคต
2.ขาดงบประมาณสนับสนุน
3.การบริหารจัดการที่ไม่มีความสามารถและไม่มีระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นของ ตัวเองในการรองรับการปฏิบัติหน้าที่
4.ขาด แคลนวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนอะไหล่สำรองและอะไหล่สิ้นเปลืองต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับรถ ไฟฟ้า
ส่งผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่สามารถบำรุงรักษาได้เพียงพอ
แหล่งข่าวระบุว่า ตามหลักการทำงานจะต้องสำรองอะไหล่ต่างๆ ไว้ประมาณ 10% เผื่อกรณีฉุกเฉินที่อะไหล่บางส่วนชำรุดเสียหายจะเปลี่ยนซ่อมแซมได้ทันที
แต่ไม่มีการสำรองเอาไว้เพราะไม่มีงบประมาณ ที่ผ่านมาหากอะไหล่ชิ้นไหนขาดจะดึงมาจากรถไฟฟ้าขบวนสำรองมาเปลี่ยนเพื่อให้บริการได้ แต่หากขาดแคลนจริงๆ
จะทำเรื่องเสนอไปทาง ร.ฟ.ท. ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือนกว่า
"หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดผลกระทบ ต่อการให้บริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพราะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือการนำอะไหล่ในรถไฟฟ้าอีกคัน
มาเปลี่ยนกับรถไฟฟ้าที่จะให้บริการ แต่หากเสียหายพร้อมกันรถไฟฟ้าไม่สามารถให้บริการได้ หากไม่เร่ง แก้ปัญหาคาดว่าภายในระยะเวลา 1-2 เดือน
โครงการนี้อาจต้องหยุดให้บริการเพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เรื่องความปลอดภัยในการให้บริการนั้น ได้มีคณะวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (Independence Consultant Engineering)
เป็นผู้ประเมินการทำงานตั้งแต่เปิดให้บริการ และเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แต่เรื่องนี้จะต้องรอให้ผู้บริหารของ ร.ฟ.ท.เป็นผู้พิจารณา
"ขณะนี้พนักงานในบริษัทกว่า 400 คน ขาดความมั่นใจในการทำงาน เพราะสวัสดิการต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะมีให้กลับไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ก่อนที่จะตั้งบริษัท
พนักงานเตรียมทำหนังสือไปยังนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธาน บอร์ด ร.ฟ.ท. และพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่าง เร่งด่วน" แหล่งข่าวระบุ
ทางด้านประชาชนที่ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์เป็นประจำแสดงความเห็นถึงการให้บริการโครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการให้บริการยังมีประสิทธิภาพต่ำมาก
ขาดการจัดระบบที่ดี ไม่อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ อาทิ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน
น.ส.วัชรีพร พัฒนธัญญา หนึ่งประชาชน ผู้ใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ กล่าวว่า อยาก พูดเรื่องนี้มานาน
ในฐานะประชาชนที่ใช้บริการทุกวันเคยร่างประเด็นปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์เอาไว้ ดังนี้
1.สถานีกว้างขว้างมากแทบตั้งวงตะกร้อได้ แต่ไม่มีเก้าอี้ให้ผู้โดยสารนั่ง สมควรมีเก้าอี้บริเวณก่อนเข้าชานชาลา เพราะบางทีฝนตกหนักหรือรถไฟหยุดวิ่ง
2.ที่สถานีรามคำแหงบนชานชาลามีเทปกั้นช่องว่างระหว่างแผงกั้นชานชาลา เพราะช่องกว้างเกินไป เข้าใจว่ากลัวเด็กจะตกลงไป แต่แก้ปัญหาชุ่ยมาก
เสียเงินสร้างสถานีใหญ่โต แต่ช่องว่างเล็กๆ กลับเอาเทปมากั้น
3.สถานีพญาไทเป็นสถานีต้นทางและปลายทาง แต่ไม่จัดการ บนชานชาลาร้อนมาก และควรมีพื้นที่ให้คนเดินมากกว่านี้ ในช่วงเช้าและเย็น
ผู้โดยสารแบกกระเป๋าใหญ่โตพะรุงพะรังขณะที่ข้างนอกยืนต่อแถวรอขึ้นรถแทบจะ เต็มชานชาลา
4.ส่วนรับรองพิเศษของขบวนพญาไทเอ็กซ์เพรสทำได้ตลกมาก แค่เอาเทปมากั้น เอากระถางต้นไม้และพัดลมมาตั้ง โซฟามาวางทำเหมือนจัดงานโรงเรียน
คนคิดขาดรสนิยมอย่างแรง ลงทุนสร้างเป็นหมื่นล้านควรให้นักออกแบบตกแต่งภายใน
5.ระบบกั้นทางเข้าออกที่ต้องหยอดเหรียญห่วย ดีเลย์ตลอด
6.ตู้ขายตั๋วติดตั้งไว้เยอะๆ ใช้งานไม่ได้ เมื่อใช้งานไม่ได้ไม่ควรเสียบปลั๊กให้ขึ้นจอแดง ถ้าเหรียญหมดตู้แล้วทำไมไม่มาเติม
7.รถวิ่งมาใกล้จะถึงสถานีหัวหมากแล้วทำไมแอร์มันไม่เย็นบ่อยมาก จะตัดแอร์ประหยัดพลังงานหรืออย่างไร ประหยัดพลังงานเป็นเรื่องดี
แต่คนยืนแน่นเต็มขบวนช่วงเย็นจนหายใจอึดอัด
8.บัตรสมาร์ทการ์ดเสียและเกิดซ้ำอีกกับเจ้าของคนเดิม รอบแรกพนักงานแจ้งว่าแถบแม่เหล็กของเอทีเอ็มไปลบข้อมูล แต่เมื่อซื้อบัตรใหม่แล้วเปลี่ยนช่องเก็บ
ไม่ให้โดนเอทีเอ็ม บัตรเครดิต คีย์การ์ด ยังเกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้นอีก
9.เสียงเปิดปิดรถไฟฟ้าสายซิตี้ไลน์ทำไมถึงดังขนาดนี้ เวลาเปิดปิดแต่ละครั้งสะดุ้งตื่นกันแทบทุกคน มีวิธีทำให้เสียงดังลดน้อยลงกว่านี้ได้หรือไม่ และ
10.ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีมักกะสันจะต้องแบกลากประเป๋าข้ามถนน และทางรถไฟ เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
หากเร่งแก้ไขทางเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จะช่วยให้คนใช้บริการที่สถานีมักกะสันเพิ่มมากขึ้น
จาก http://matichon.co.t...lday=2011-08-01