พูดถึงสนามบินที่กัวลาลัมเปอร์หน่อยเพราะเห็นว่าหลายคนชอบเข้าใจผิด
ที่กัวลาลัมเปอร์มีสนามบินพาณิชย์สองแห่ง ..... ถึงตรงนี้หลายคนจะคิดในใจว่า ก็ใช่สิ ก็มี KLIA ที่สายการบินไฮโซ ๆ ลง และก็มี LCCT ที่ AirAsia และพรรคพวกโลวคอสต์ใช้ไง ซึ่ง ... ผิด ครับ
เพราะว่าที่จริงแล้ว LCCT นั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า อาคารผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ Low Cost Carrier Terminal อาคาร LCCT นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Kuala Lumpur International Airport หรือ KLIA โดยที่ KLIA นั้นนอกจากมี LCCT แล้วยังมีอาคารผู้โดยสารหลัก ที่ใช้สำหรับสายการบินปรกติจอดเรียกว่า Main Terminal Building หรือ MTB โดย จะมีอาคารเทียบเครื่องบินทั้งในส่วนที่ติดอยู่กับอาคาร MTB (ที่คนมาเช็คอิน) และก็มีอาคารสำหรับจอดเครื่องบินที่แยกออกมาเรียกว่า Satellite ซึ่งจะเอาไว้ให้เครื่องบินจอดเทียบอย่างเดียว แล้วขนถ่ายผู้โดยสารไปผ่านตม. ที่อาคารหลัก โดยใช้รถไฟฟ้าวิ่งเชื่อม (เช่นเดียวกัน ผู้โดยสารเช็คอิน และผ่านตม.ที่อาคารหลัก แล้วก็นั่งรถไฟ มายังอาคาร Satellite)
ดังนั้น ไม่ว่าผู้โดยสารจะนั่ง AirAsia การบินไทย มาเลเซียแอร์ไลน์ ลุฟท์ฮันซา รอยัลจอร์แดน ฯลฯ ไปที่กัวลาลัมเปอร์ ให้สังเกตว่า สนามบินปลายทางคือ KUL เหมือนกัน(หรือ ICAO code คือ WMKK) เพราะมันคือสนามบินเดียวกัน เพียงแต่เครื่องจะจอดคนละอาคาร
สำหรับสนามบินอีกแห่งนึงของกัวลาลัมเปอร์ก็คือ สนามบิน Sultan Abdul Aziz Shah Airport หรือสนามบินสุบัง Subang มี IATA code คือ SZB ICAO code คือ WMSA เป็นสนามบินเก่าที่เคยใช้เป็นสนามบินหลักของกัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะมีการสร้าง KLIA (ก็เหมือนกับดอนเมือง แล้วภายหลังมีการสร้างสุวรรณภูมินั่นแหละ) ปัจจุบันสนามบินนี้ก็ยังคงใช้งายอยู่และยังใช้ทั่ง Inter และ Dom แต่ว่าจะเน้นเฉพาะสายการบินพาณิชย์ที่ใช้เครื่อง Turbo prop เท่านั้น สายการบินที่ใช้ที่นี่ที่เรารู้จักกันดีคือ Fireflyz และ Berjaya Air
พูดมาซะยาวในภาพคืออาคาร Satellite ของ KUL