ร.ฟ.ท.ตั้งงบปี 54 จำนวน 646 ล้านบาท ปรับปรุงบริการแอร์พอร์คลิ้งค์ หลังถูกผู้โดยสารบ่น บริหารห่วย ยกเครื่องใหม่ตั้งแต่ป้ายบอกทาง, ทางเข้าออกสถานี, ที่จอดรถ, Sky Walk สำหรับผู้โดยสาร และปรับภูมิทัศน์ภายนอกสถานี ส่วนบันไดเลื่อนต้องสำรวจเพิ่มเติมก่อนตั้งงบเพิ่ม “สุพจน์”ยอมรับปัญหาเกิดจากการออกแบบ ที่ทั้งผู้ออกแบบและคนตรวจรับแบบไม่มีความรู้เฉพาะด้าน ขณะที่แท็กซี่สุวรรณภูมิฉุนแอร์พอร์ตลิ้งคิ์แย่งผู้โดยสาร ดอดขโมยป้ายบอกทางทิ้ง
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาความไม่สะดวกในการใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง (แอร์พอร์ต ลิ้งค์) ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงหลายเรื่อง เช่น ที่จอดรถ, ทางเข้า-ออกสถานี, ทางเดินเชื่อมแบบลอยฟ้า, ถนนเชื่อมเข้าออกสถานี, ป้ายบอกทาง เป็นต้น ซึ่งร.ฟ.ท.ได้ตั้งงบประมาณปี 2554 จำนวน 646 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงต่างๆ โดยงานส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายในปี 2554 เพื่อให้ผู้ใช้บริการแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีมักกะสันนั้น คาดว่าจะต้องใช้เงินปรับปรุงรวมกว่า 250 ล้านบาท แบ่งเป็นการปรับปรุงในเรื่องความสะดวกภายในสถานีประมาณ 172 ล้านบาท เช่น ปรับภูมิทัศน์โดยรอบสถานีและทำป้ายบอกทางเพิ่มเติม, ทำถนนเชื่อมถนนกำแพงเพชร ถนนมิตรสัมพันธ์กับถนนเพชรบุรีตัดใหม่เพื่อเข้าสู่สถานีมักกะสันได้สะดวกมากขึ้น, ทำสะพานข้ามเป็นแลมป์เพื่อเชื่อมระหว่างถนนจตุรทิศกับตัวสถานี , ทำแลมป์จากบริเวณสี่แยกฟอร์จูนข้ามถนนอโศกเข้าชั้นสถานี (Concourse) ของแอร์พอร์ตลิ้งค์ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างทางเดินแบบลอยฟ้า (Sky Walk) เชื่อมต่อกับสถานีมักกะสัน กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี ความยาวประมาณ 130 เมตร เชื่อมจากชั้นสถานี (Concourse) ของแอร์พอร์ตลิ้งค์สู่ชั้นล่างของสถานีรถไฟใต้ดินเพชรบุรี (ฝั่งตะวันออก) งบประมาณ 80 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
เพื่อปรับปรุงตำแหน่งทางลงให้เหมาะสม โดยจะประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนมี.ค.2554
ส่วนสถานีอื่นๆ ทั้ง สถานีพญาไท, ราชปรารถ, อโศก, รามคำแหง, หัวหมาก, บ้านทับช้าง, ลาดกระบัง จะมีทั้งการปรับปรุงป้ายบอกทาง ทำที่จอดรถ ปรับภูมิทัศน์ ทางเข้าออกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละสถานี เช่น สถานีทับช้าง จะต้องมีการอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟเพื่อเชื่อมเข้าสถานจากปัจจุบันที่ไม่สะดวกเพราะจะต้องใช้ถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท
ระยะก่อสร้างประมาณ 1 ปี
แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัญหาการไม่สะดวกในการเข้าออกสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์ เนื่องจากไม่มีการออกแบบไว้ตั้งแต่แรก ทำให้ไม่มีการตั้งงบสำรองเผื่อไว้ เมื่อก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการ จึงมีปัญหาค่อนข้างมาก ในขณะที่การดำเนินการแก้ไขล่าช้าเนื่องจากต้องรอให้มีการจัดตั้งบริษัทลูก แอร์พอร์ตลิ้งค์ก่อน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขอเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,000 ล้านบาท โดยในระหว่างนี้ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการออกแบบและเริ่มปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนแล้ว และในกรณีที่มีปัญหาการร้องเรียนว่า บางสถานีไม่มีบันไดเลื่อนนั้น ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งจะเร่งสำรวจในแต่ละสถานี และจะเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้ผู้โดยสารโครงการ แอร์พอร์ต ลิ้งค์ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ทั้งทางข้าออกสถานี การเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่จอดรถ การเดินลานจอดรถไปยังสถานีหลักๆ มาจากการออกแบบที่ผู้ออกแบบไม่มีประสบการณ์และไม่มีความเชี่ยวชาญจริง รวมถึงผู้ที่ตรวจสอบแบบไม่มีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งโครงการใหญ่ ผู้ตรวจสอบแบบควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นคนภายนอกองค์กรก็ได้ ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.เร่งปรับปรุงแก้ไขการให้บริการโครงการ แอร์พอร์ต ลิ้งค์ ในส่วนที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น การติดตั้งบันไดเลื่อนเพิ่ม การปรับปรุงป้ายบอกทางให้ชัดเจน รวมถึงปรับปรุงให้ภายในสถานีมีความโปร่งและมีอากาศไหลเวียนดี
“ผมเพิ่งไปตรวจที่สถานีสุวรรณภูมิพบว่า ป้ายบอกทางที่จะบอกจากจุดรับกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้าไปยังสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์ ไม่ชัดเจนและทำให้ผู้โดยสารสับสนระหว่างการเดินไปใช้ระบบ City Line กับ Express Line ส่วนบันไดเลื่อนนั้น ร.ฟ.ท.ต้องไปสำรวจดูว่า แต่ละสถานีเป็นอย่างไร สถานีที่ยังไม่มีบันไดเลื่อนจะติดตั้งที่จุดใด มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งการติดตั้งบันไดเลื่อนเพิ่มเติมน่าจะเริ่มภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนตัวสถานีที่อากาศไม่ถ่ายเทนั้น ร.ฟ.ท.ก็ต้องหาทางแก้ไขด้วย เพราะเป้าหมายของระบบขนส่งมวลชนคือต้องให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก แต่เมื่อการมาใช้บริการไม่สะดวก ผู้ใช้บริการก็ไม่อยากเข้ามาใช้บริการ”นายสุพจน์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2553 กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ขนป้ายบอกทางของแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิออกไปจำนวนมาก เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกแอร์พอร์ตลิ้งค์แย่งผู้โดยสาร โดยมีรายงานว่า ตั้งแต่แอร์พอร์ตลิ้งค์เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2553 ทำให้ผู้โดยสารแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิลดลงและทำให้เที่ยววิ่งแท็กซี่ลดลง เฉลี่ย 2,000-3,000 เที่ยวต่อวัน โดยปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิ้งค์เก็บค่าบริการรถ City Line 15 บาทตลอดสายส่วนรถ Express Line เก็บ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.แจ้งว่า จะเร่งประสานกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เพื่อติดสติ๊กเกอร์บอกทางไปสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์กับป้ายของสนามบินเป็นการชั่วคราว พร้อมกันนี้จะเร่งทำป้ายบอกทางแอร์พอร์ตลิ้งค์ใหม่ โดยทำจากสแตเลสเพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้นและทำเป็นป้ายแขวนเพื่อไม่ให้ถูกขโมยได้ง่าย
จาก http://thairecent.co...ss/2010/747985/