อำเภอเมืองศรีสะเกษ
เริ่มต้นกันที่อำเภอเมืองศรีสะเกษกับ 3 จุดหมายที่ไม่อยากให้พลาด! ซึ่งมาจาก 3 เส้นทางท่องเที่ยวคือ เส้นทางตามรอยพระพุทธศาสนา เส้นทางสายไหม และเส้นทางวิถีชนเผ่า ของดีจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ บ้านหว้าน ตำบลน้ำคำ
พิกัด 15°11'38" N 104°17'47" E
Unseen แห่งศรีสะเกษจุดหมายแรกที่อยากให้ทุกคนได้ชมก็คืออุโบสถกลางน้ำทรงเรือสุพรรณหงส์จำลองที่อยู่ภายในหนองผือของวัดพระธาตุสุพรรณหงส์ 1 ใน 13 วัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นไฮไลท์ของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านหว้าน
อุโบสถกลางน้ำในรูปแบบสถาปัตยกรรมแปลกตานี้มีพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อปี พ.ศ. 2552 ประดิษฐานอยู่ใน 2 จุดคือภายในอุโบสถและที่ยอดมณฑปให้นักท่องเที่ยวได้สักการะเป็นสิริมงคล และนอกจากนั้นแล้วในทุกวันอาทิตย์ที่นี่จะมีตลาดนัดโบราณที่ชาวบ้านนำสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่าย มีกิจกรรมใส่บาตร โดยชาวบ้านที่นี่จะนำใบเล็บครุฑหรือใบไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นมาใช้แทนดอกไม้ ถือเป็นสิ่งแปลกตาอย่างหนึ่งที่หลายคนยังไม่เคยเห็น รวมทั้งยังมีการแต่งกายของชนเผ่าลาวแท้ ๆ ให้ได้สัมผัส หรือลองสวมใส่ด้วย
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ศรีสะเกษ) บ้านโนนหล่อ ตำบลหญ้าปล้อง
พิกัด 15°1'45" N 104°14'50" E
“ผ้าไหมงาม” เป็นชื่อเสียงอย่างหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นเหตุผลที่เราอยากชวนทุกคนมาที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ศรีสะเกษ) นี้เพื่อดูกระบวนการผลิตผ้าไหมอย่างครบวงจรไปด้วยกัน
มาที่นี่แล้วนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้กันตั้งแต่วงจรชีวิตของไหมซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41-51 วัน และได้เห็นของจริงในทุกระยะของการเจริญเติบโตเลย
(ระยะไข่ 10-12 วัน > ระยะหนอนไหม 20-25 วัน > ระยะไหมสุก 2-4 วัน > ระยะดักแด้ 10-12 วัน > ผีเสื้อ)
การผลิตผ้าไหมจะเริ่มจากการคัดเลือกไหมในระยะดักแด้มาทำ “การสาวไหม” ในน้ำที่มีการควบคุมระดับความเป็นกรดด่างที่ 6.5-7.0 และควบคุมอุณภูมิน้ำในระหว่างการสาวไหมไว้ที่ 60-65 องศาเซลเซียส จากนั้นเส้นไหมที่ได้มาจะถูกนำไป “ฟอกย้อม” ด้วยสีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีเหลืองจากดอกกรรณิการ์ สีกากีจากเปลือกไม้พะยอม สีน้ำตาลจากเปลือกไม้มะค่าเต้ สีเขียวจากใบสนแพง สีเทาจากก้านบัว ฯลฯ ก่อนเข้าสู่กระบวน “การกรอไหม” และ “การทอ” ให้ได้ลวดลายด้วยกี่ทอผ้าจนสำเร็จเป็นผ้าไหมผืนงาม
แต่นอกจากจะได้ผ้าไหมแล้ว ในกระบวนการต่าง ๆ ของการผลิตผ้าไหมยังสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจได้อีกหลากหลาย อาทิ การแปรรูปลูกหม่อน (Mulberry) ที่มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Anthocyanin) เป็นเชอร์เบทผลหม่อน เยลลี่ผลหม่อน และน้ำลูกหม่อน ส่วนใบหม่อนนอกจากจะใช้เลี้ยงหนอนไหมก็ยังสามารถคัดมาทำชาใบหม่อน (ร้อน) และชาใบหม่อนมะนาว (เย็น) ที่มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ฯลฯ และยังมีการวิจัยโปรตีนไหมสำหรับการใช้ในวงการแพทย์ด้วย เนื่องจากเส้นไหมมีสารโปรตีนไฟโบรอิน เป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่เข้ากับสิ่งมีชีวิตและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ จึงสามารถนำมาทำพลาสเตอร์สนามแผล เส้นด้านเย็บแผล หนังเทียม เส้นเลือดเทียม และคอนแทคเลนส์ได้ ...ไม่ธรรมดาจริง ๆ
วัดบ้านตะดอบ บ้านตะดอบ ตำบลตะดอบ
พิกัด 15°1'0" N 104°25'3" E
ได้ยินสำนวน “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” มาตั้งนาน วันนี้โอกาสชมการตีเหล็กตอนร้อนของจริงก็มาถึงแล้ว เพราะที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ณ บ้านตะดอบแห่งนี้มีมีของเด่นของดีเป็นนานาเครื่องมือเครื่องใช้เหล็กกล้าชั้นดีที่มาจากการผลิตแบบดั้งเดิมของชาวเผ่าส่วยบ้านตะดอบซึ่งยึดถือการตีเหล็กเป็นอาชีพรองในช่วงหมดฤดูทำนาที่เป็นอาชีพหลัก
นอกจากการตีเหล็กก็ยังมีการแสดง “รำตำตะ” เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของบ้านตะดอบ โดยคำว่า “ตำตะ” เป็นภาษาส่วยที่มาจากการรวมสองคำ คือ “ตำ” ที่แปลว่า “ตี” และ “ตะ” ที่แปลว่า “เหล็ก” ลักษณะของการรำจะใช้จังหวะจากกลองยาวประกอบท่าเซิ้งที่เลียบแบบขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการตีเหล็ก นับเป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านที่ต้องมาชมที่บ้านตะดอบเท่านั้น!