Jump to content



 
จองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม จองรถเช่า
แผนกบริการลูกค้า โทร 02-3737-555 จันทร์ - เสาร์ 09.00-18.00น.

 

ค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวและการบินในเอชไฟล์ท เชิญด้านล่างนี้

หน้าแรก | เว็บบอร์ดรีวิว | จองตั๋วเครื่องบิน | จองโรงแรม | เที่ยวต่างประเทศ | เที่ยวในประเทศ | ลงโฆษณา

ทำความรู้จักอาชีพ "Simulator Engineer" ผู้ดูแล “เครื่องฝึกบินจำลอง" ให้มีมาตรฐาน เบื้องหลังความแ


  • Please log in to reply
No replies to this topic

#1 ทีมข่าวHFLIGHT

ทีมข่าวHFLIGHT

    สมาชิก Business Class

  • Moderator Team
  • 9,839 posts

 


Posted 17 October 2017 - 10:01 PM

Advertisements

ทำความรู้จักอาชีพ "Simulator Engineer" ผู้ดูแล “เครื่องฝึกบินจำลอง" ให้มีมาตรฐานและเป็นเบื้องหลังสร้างความแข็งแกร่งของอาชีพนักบิน!
 

IMG_6562.jpg

วิศวกรเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator Engineer)

 

ในปัจจุบัน การทำงานในอุตสาหกรรมการบินถือเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน ซึ่งอาชีพในอุตสาหกรรมการบินนั้นไม่ได้มีอาชีพนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานภาคพื้นแต่ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกมากที่มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนไป

 

วันนี้เว็บไซต์ HFlight.net จะขอพาไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งอาชีพ นั่นก็คือ “วิศวกรเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator Engineer)” ผู้คอยดูแลและทำหน้าที่เป็นเบื้องหลังในการสนับสนุนการฝึกฝนของนักบินให้มีประสิทธิภาพด้วยการจัดการอุปกรณ์สำคัญอย่าง “เครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator)” ให้มีมาตรฐานและอัพเดทระบบจำลองให้มีข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยในวันนี้วิศวกรเครื่องฝึกบินจำลองที่ให้เกียรติมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานก็คือคุณต้น ธนัท อเนกบุณย์ Simulator Engineer 4 จากกองวิศวกรรมเครื่องฝึกบินจำลอง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาทำความรู้จักกับอาชีพนี้ไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

IMG_6569.jpg

คุณต้น ธนัท อเนกบุณย์ 

 

Simulator Engineer คืออะไร

 

อาชีพ Simulator Engineer หรือวิศวกรเครื่องฝึกบินจำลอง มีหน้าที่ดูแลเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ครับ ซึ่งเครื่องฝึกบินจำลองจะเป็นระบบที่ใหญ่มาก ทั้งด้านเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องมีวิศวกรเข้ามาดูแลเพื่อให้เครื่องฝึกบินจำลองนั้นได้มาตรฐานตามกฎของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการตรวจทุก ๆ ปี และเป็นหน้าที่ของ Simulator Engineer ที่จะทำให้เครื่องฝึกบินจำลองอยู่ในมาตรฐาน โดยดำเนินการตามมาตรการตรวจสอบให้ผ่าน คอยทำหน้าที่อัพเดทข้อมูลให้ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมีสนามบินใหม่ การเปลี่ยนการจัดการรันเวย์ เป็นต้น โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องฝึกบินจำลองจะมีเครื่องมือ (Tools) ให้ใช้ ส่วนข้อมูลที่อัพเดทเราจะได้รับจากสนามบินนั้น ๆ หรือจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ครับ

 

 

 

อาชีพ Simulator Engineer ในประเทศไทย

 

ในประเทศไทยมีให้บริการเครื่องฝึกบินจำลองอยู่หลายที่ แต่ในความจริงแล้วแต่ละสายการบินไม่จำเป็นต้องมีเครื่องฝึกบินจำลองเป็นของตัวเองก็ได้ เพราะเครื่องฝึกบินจำลองเป็นสิ่งที่สามารถเช่าใช้บริการได้ และถ้าหากสายการบินใช้เครื่องบินรุ่นที่ไม่มีเครื่องฝึกบินจำลองให้บริการในประเทศไทยก็จะทำการส่งนักบินออกไปฝึกยังประเทศใกล้เคียง อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น ผมคิดว่าอาชีพ Simulator Engineer หรือวิศวกรเครื่องฝึกบินจำลองในประเทศไทยน่าจะมีอยู่ไม่เกิน 100 คนครับ ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีคนทำหน้าในส่วนนี้อยู่ประมาณ 40 คน

 

 

 

การทำหน้าที่ดูแลเครื่องฝึกบินจำลองของ Simulator Engineer

 

ที่การบินไทยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือฝ่าย Operator เป็นส่วนที่อยู่หน้างานกับเครื่องฝึกบินจำลอง 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน มีหน้าที่คอยเตรียมเครื่อง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนนี้จะมีจำนวนคนปฏิการเยอะหน่อย คือประมาณ 20-30 คนเพื่อผลัดเปลี่ยนกันทำงาน และอีกส่วนหนึ่งคือฝ่าย Engineer อย่างตัวผม จะมีหน้าที่ในการพัฒนาโครงการเพื่อปรับปรุง และทำการบำรุงรักษาครับ

 

Simulator Engineer จะเข้าทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง รวมเป็น 9 ชั่วโมงนะครับ ทำงานวันจันทร์-วันศุกร์ แต่ละวันแบ่งออกเป็น 2 กะ คือกะเช้า 8.00-17.00 น. และกะบ่าย 13.30-22.30 น. แม้เครื่องฝึกบินจำลองจะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่จะสังเกตได้ว่าจะไม่มี Simulator Engineer ทำงานในช่วงดึก ๆ นั่นเพราะเป็นหน้าที่ของฝ่าย Operator นอกจากในกรณีที่เครื่องมีปัญหาเร่งด่วนก็จะต้องมาทำหน้าที่ในช่วงนอกเวลาหรือวันเสาร์และอาทิตย์ครับ

 

 

 

เล่าถึงเครื่องฝึกบินจำลองของการบินไทย

 

การบินไทยมีเครื่องฝึกบินจำลองรูปแบบที่เป็น Full-flight Simulator ใน Level D ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเครื่องฝึกบินจำลอง ที่สามารถโยกได้ มีหน้าปัด มีภาพฉาย 200 องศา จำนวนทั้งหมด 8 ตัว คือ ตั้งแต่รุ่นเก่าสุดอย่างแอร์บัส เอ300-600 ที่เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า AB6 ตัวนี้อยู่มานานกว่า 30 ปีแล้วครับ ปัจจุบันการบินไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว แต่ยังเปิดให้บริการเครื่องฝึกบินจำลองรุ่นนี้แก่สายการบินอื่นมาเช่าทำการฝึกบิน นอกจากนั้นก็ยังมีโบอิ้ง 737-400 โบอิ้ง 747-400 โบอิ้ง 777-200/300 แอร์บัส เอ330-300 แอร์บัส เอ340 ซึ่งปัจจุบันการบินไทยปลดประจำการเครื่องบินแอร์บัส เอ340 ลงแล้ว เราจึงมีการปรับเปลี่ยนแผงควบคุมต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องฝึกบินจำลอง แอร์บัส เอ340 สามารถใช้เป็นแอร์บัส เอ330 ที่ทำการบินด้วยเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ได้ โดยกองที่จัดตารางจะทำการจัดแบ่งการฝึกของแอร์บัส เอ330 และแอร์บัส เอ340 ออกเป็นช่วงยาว ๆ เพื่อที่เราจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนบ่อยที่อาจเสี่ยงต่อความเสียหาย ดังนั้นจึงเปรียบเหมือนเรามีเครื่องฝึกบินจำลอง แอร์บัส เอ330 จำนวน 2 เครื่อง กล่าวต่อไปก็จะเป็นเครื่องรุ่นใหม่อย่างแอร์บัส เอ380 และใหม่ที่สุดก็คือโบอิ้ง 777-300อีอาร์ ครับ โดยเครื่องฝึกบินจำลอง 7 ตัวจากทั้งหมด 8 ตัว ที่กล่าวมาเป็นยี่ห้อ L3 และมีเพียง 1 ตัวนั่นก็คือแอร์บัส เอ380 เป็นยี่ห้อ CAE จากแคนาดาครับ

 

DSC_0088-2.jpg

เครื่องฝึกบินจำลอง แอร์บัส เอ330-300

 

DSC_0069.jpg

เครื่องฝึกบินจำลอง แอร์บัส เอ380

 

DSC_0079.jpg

เครื่องฝึกบินจำลอง โบอิ้ง 777-300อีอาร์

 

นอกจาก Full-flight Sim แล้ว การบินไทยยังมี MFTD สำหรับฝึกขั้นตอนการบิน โดยมีลักษณะเป็นจอระบบสัมผัสธรรมดา ไม่มีแผงปุ่มเหมือนจริง จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินแอร์บัส เอ330 และแอร์บัส เอ340 ครับ

 

และเนื่องจากเครื่องฝึกบินจำลองมีมูลค่าสูง สำหรับเครื่องฝึกบินจำลองรุ่นอื่น ๆ ที่การบินไทยมีเครื่องบินให้บริการ อย่างแอร์บัส เอ350 ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าครับ เนื่องจากยังคงมีห้องว่างสำหรับติดตั้งได้อีกจำนวน 2 ห้อง

 

 

 

ความสำคัญของ Simulator Engineer เบื้องหลังความแข็งแกร่งของอาชีพการบิน

 

DSC_0108.jpg

เครื่องฝึกบินจำลอง โบอิ้ง 747-400

 

DSC_0099-2.jpg

เครื่องฝึกบินจำลอง โบอิ้ง 747-400 ในช่วงระหว่างมีการฝึกบิน

 

เนื่องจาก “นักบิน” มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาฝึกบินกับเครื่องฝึกบินจำลองตั้งแต่ขั้นตอนฝึกหัด (Trainee) จนกระทั่งเป็นนักบินแล้วก็ยังจะต้องเข้าฝึกกับเครื่องฝึกบินจำลองในทุก ๆ 6 เดือน (Recurrent) รวมไปถึงการฝึกฝนรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะกับการฝึกด้วยเครื่องบินจริง ดังนั้นอาชีพ Simulator Engineer จึงมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการทำงานของนักบินด้วยการทำให้การฝึกนั้นสมจริงที่สุดเพื่อให้นักบินเกิดความเชี่ยวชาญทั้งในภาวะปกติและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ช่วยทำให้นักบินมีความมั่นใจ ถือเป็นเบื้องหลังอีกส่วนที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และความมั่นคงของบริษัทครับ

 

 

 

เส้นทางในการก้าวมาเป็น Simulator Engineer ของคุณธนัท

 

IMG_6571.jpg

คุณต้น ธนัท อเนกบุณย์

 

เมื่อช่วงที่ผมกำลังเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรม สาขาคอมพิวเตอร์ ทิ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผมได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานที่กองวิศวกรรมแห่งนี้ ในช่วงนั้นกำลังมีการปรับปรุงพัฒนาระบบที่ครูนักบินซึ่งเป็นผู้ที่นั่งด้านหลังและคอยกดเลือกเพื่อให้เครื่องฝึกบินจำลองสร้างเหตุการณ์จำลองต่าง ๆ ในการฝึกนักบิน ผมเองก็ได้มีส่วนร่วมการปรับปรุงให้เป็นระบบใหม่ในครั้งนั้น มีโอกาสได้ลองทำ ลองฝึก แต่ตอนเรียนจบการบินไทยยังไม่ได้เปิดรับตำแหน่งนี้ จึงทำงานที่อื่นอยู่ระยะหนึ่ง และเมื่อการบินไทยเปิด ผมจึงมาสมัครเข้าทำงานครับ

เล่าคร่าว ๆ ทั่วไปหลังสอบผ่านเข้ามาในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีแรกจะได้ตำแหน่งเป็น Simulator Engineer Trainee ก่อนจะเป็น Simulator Engineer 3 ต่อด้วยในระดับ 4, 5 เมื่อเข้าสู่ระดับ 6 จะเริ่มมีงานด้านบริหาร เป็นหัวหน้าฝ่ายซอฟท์แวร์ หัวหน้าฝ่ายไฟฟ้า หัวหน้าฝ่ายเครื่องกล ส่วนระดับ 7 จะเรียกว่าผู้จัดการกอง ที่นี่จะมีผู้จัดการกองวิศวกรรมเครื่องฝึกบินจำลอง ผู้จัดการกองปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลอง ผู้จัดการกองอุปกรณ์การฝึกด้านความปลอดภัยการบิน (ไว้ฝึกพนักงานต้อนรับตั้งอยู่ที่หลักสี่)  ผู้จัดการกองวางแผนและควบคุมอะไหล่เครื่องฝึกบินจำลอง และตำแหน่งสูงสุดก็คือผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องฝึกบินจำลอง

 

โดยปัจจุบันผมเป็น Simulator Engineer 4 กองวิศวกรรมเครื่องฝึกบินจำลอง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลระบบซอฟท์แวร์ของเครื่องฝึกบินจำลองของบริษัท แต่รับผิดชอบเป็น Type Engineer ของเครื่องฝึกบินจำลอง โบอิ้ง 747 เป็นหลักครับ

 

 

 

คุณสมบัติที่กำหนดสำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานหรือฝึกงานในกองวิศวกรรมเครื่องฝึกบินจำลอง

 

ที่ผ่านมา Simulator Engineer เปิดรับจากผู้ที่จบมาทางสายวิศวกรรมหลากหลายสาขา อาทิ รับวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อทำงานกับระบบไฮดรอลิกที่ขาของเครื่องฝึกบินจำลอง ซึ่งแต่ละเครื่องจะมี 6 ขา สำหรับการเคลื่อนไหวใน 6 แกน รับวิศวกรรมไฟฟ้าเพื่อดูแลอินเทอร์เฟส (ระบบที่เชื่อมระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์) วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็รับมาหน้าที่ดูแลการแก้ไขโค้ดคำสั่งเครื่องฝึกบินจำลอง และอัพเดทข้อมูล อย่างเช่นในกรณีที่นักบินเข้ามาใช้และแจ้งว่ากดปุ่มนี้แล้วผลที่แสดงออกมาไม่ตรง วิศวกรคอมพิวเตอร์อย่างตัวผมจะมีหน้าที่ในการแก้ไขให้ตรง และมีอีกส่วนหนึ่งคือรับผู้ดูแลเกี่ยวกับระบบภาพที่ปรากฎในเครื่องฝึกบินจำลอง เช่น หากมีตึกที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ มีรันเวย์เส้นใหม่ ตรงนี้บริษัทอาจตัดสินใจซื้อจากต่างประเทศหรือทำการจำลองเป็นระบบสามมิติขึ้นมาเอง ซึ่งการบินไทยก็สามารถทำเองโดยอาศัยเครื่องมือจากที่ได้รับมา

 

เบื้องต้น Simulator Engineer กำหนดรับผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรม เกรดเฉลี่ยมากกว่า 2.75 และมีคะแนน TOEIC มากกว่า 550 คะแนน จากนั้นบริษัทจะมีการสอบความรู้ทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ต่อด้วยการสอบปฏิบัติ อย่างสาขาคอมพิวเตอร์อย่างผมมีการทดสอบการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาซี สาขาไฟฟ้าก็อาจจะเป็นการทดสอบต่อวงจร เป็นต้น ส่วนขั้นตอนสุดท้ายเป็นการสัมภาษณ์ครับ

 

แม้ระยะ 5 ปีที่ผ่านมาการบินไทยไม่ได้เปิดรับ Simulator Engineer เพิ่ม แต่ที่นี่ยังคงเปิดให้ฝึกงานทุกปีนะครับ หากนักศึกษามีความสนใจสามารถติดต่อเข้ามาผ่านเว็บไซต์รับสมัครฝึกงานของบริษัทได้เลย

 

 

 

ข้อดีของอาชีพและประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่

 

ผมเรียนจบมาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ แต่ในงานนี้มีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับนักบิน หากนักบินมาแจ้งแล้วเราไม่รู้ว่าปุ่มนั้นอยู่จุดไหน หรือจอนั้นมีชื่อว่าอย่างไร เราก็จะไม่เข้าใจ การบินไทยจึงส่งให้ Simulator Engineer ไปเข้าเรียนร่วมกับนักบินในหลักสูตรฝึกนักบินใหม่ด้วย และมีการสอบเกณฑ์เดียวกับนักบินเลยนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิศวกรมีความรู้และคุ้นเคยกับระบบต่าง ๆ ของเครื่องบิน ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบแอร์ ระบบนิวเมติก ไฮสปีด แอร์โรวไดนามิก ระบบไฮดรอลลิค เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นความรู้เพิ่มเติมที่ผมได้รับ นอกจากนั้นก็ส่งให้ไปดูงานที่ฝ่ายช่าง รับการเทรนเรื่องการจัดระวาง เหล่านี้ทำให้ผมมีความรู้เกี่ยวกับการบินเยอะขึ้นมาก ในช่วงระหว่างทดสอบระบบก็มีประสบการณ์ได้บินกับเครื่องฝึกบินจำลองไปด้วย ซึ่งถ้าหากเป็นบุคคลภายนอกมาใช้งานก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง ถือเป็นโบนัสอย่างนึงที่ได้รับครับ

 

 

รายได้ของอาชีพจะเป็นตามเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจและวิชาชีพด้านวิศวกรรม เงินเดือนเริ่มต้นช่วงประมาณ 2 หมื่นบาท และมีการปรับขึ้นในทุกปี นอกจากนั้นการเป็นพนักงานของการบินไทยก็มีสวัสดิการเป็นโควต้าบินฟรีต่อปีรวมถึงส่วนลดในการซื้อตั๋วโดยสาร

 

 

 

ฝากถึงผู้ที่สนใจอาชีพ Simulator Engineer

 

IMG_6574.jpg

คุณต้น ธนัท อเนกบุณย์

 

นอกจากความรู้ทางด้านวิชาชีพแล้วอยากให้ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษครับ เนื่องจากคู่มือการทำงานของเราโดยมากเป็นภาษาอังกฤษ ในกรณีที่บริษัทตัดสินใจซื้อเครื่องฝึกบินจำลองตัวใหม่มา Simulator Engineer ก็จะถูกส่งไปฝึกที่ต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นหากเป็นคนที่มีความชอบทางด้านเครื่องบินอยู่แล้วก็ถือเป็นข้อได้เปรียบ หรือการมีความคุ้นเคยกับคำศัพท์ด้านการบิน เข้าใจระบบต่าง ๆ ก็จะช่วยในการทำงานได้ ปัจจุบันนักศึกษาด้านวิศวกรรมที่สมัครเข้าฝึกงาน บางคนก็เป็นสายคอมพิวเตอร์ แต่บางคนก็มาทางสายการบิน บางรุ่นฝึกงานจบแล้วได้แรงบันดาลใจไปสอบนักบินเป็น Student Pilot อยู่ก็มี ไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็มีครับ





Advertisements




1 user(s) are reading this topic

0 members, 1 guests, 0 anonymous users

ค้นหา ตั๋วเครื่องบินด้วยระบบ Galileo (แสดงผล waiting list)     ค้นหา ตั๋วเครื่องบินด้วยระบบ Amadeus (เแสดงเฉพาะที่นั่งว่าง)
   
    ติดต่อเจ้าหน้าที่แผนก ตั๋วเครื่องบิน โทร 02-3737-555 / จันทร์ - ศุกร์ 09.00~18.00 น. // เสาร์ 09.00-16.00 น.