เลื่อนแอร์พอร์ตลิงค์สูญพันล้าน
ร.ฟ.ท.อ่วม สูญแล้วนับพันล้าน ทั้งจากเสียโอกาสทางธุรกิจ ภาระดอกเบี้ยจากเหตุเลื่อนเปิดแอร์พอร์ตลิงค์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แจงแค่ดอกเบี้ยตกปีละกว่า 300 ล้านบาทเฉลี่ยกว่า 8 แสนบาทต่อวัน ยังไม่นับรวมค่ารายได้ค่าตั๋วปีแรกพันกว่าล้าน ค่าบริการเชิงพาณิชย์ และเสียโอกาสในการแข่งขัน
ของประเทศ "สหภาพ"แฉซ้ำ เสียหายมาก คาดอาจเลื่อนยาวข้ามปี ด้าน"ยุทธนา"ยอมรับล่าช้าเพราะปัญหาด้านเทคนิคจริง ๆ แต่ยังโปรยยาหอมใกล้มีข่าวดี
แหล่งข่าวระดับสูงจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากกรณีที่โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ต้องเลื่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาหลายครั้ง จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้นได้ส่งผลเสียหายให้แก่ประเทศไทยมากทั้ง
ในแง่ของโอกาสในการแข่งขันของประเทศจากความเป็นศูนย์กลางของธุรกิจการบิน (ฮับ) ของภูมิภาค ภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้มาดำเนินการในราว 30,000 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 25 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4.8% หรือประมาณปีละกว่า 300 ล้านบาท เฉลี่ยวันละกว่า 8 แสนบาท ที่ต้องจ่าย นอกจากนี้ยังทำให้ขาดรายได้จากทั้งค่าตั๋วโดยสารและค่าบริการเชิงพาณิชย์อีกต่างหาก
"โดยรวมแล้วน่าจะเสียหายหลายพันล้าน ที่เห็นชัดเจนก็คือรายได้จากค่าบริการในเชิงพาณิชย์ประมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมทีร.ฟ.ท.คาดว่าปีแรกจะได้รับประมาณ 1,069 ล้านบาท โดยมาจาก ค่าโดยสารประมาณ 304 ล้านบาท สำหรับรถไฟด่วนพิเศษที่เปิดให้บริการ 5,500 เที่ยว/วัน และรายได้ประมาณ 765 ล้านบาท สำหรับรถไฟธรรมดา 60,000 เที่ยว/วัน ทั้งนี้ยังไม่รวมกับการสูญเสียรายได้จากการบริหารทรัพย์สินตามสถานีต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อยและจะทยอยเพิ่มขึ้นทุกปีตามแผนที่ร.ฟ.ท.ศึกษาไว้"
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้เคยส่งหนังสือเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบไปครั้งหนึ่งหลังจากช่วงแรก ๆ ของการดำเนินโครงการกรณีที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยลุกลี้ลุกลนผลักดันโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ โดยไม่รับฟังเสียงท้วงติงของสหภาพและผู้ที่เกี่ยวข้องจนล่าสุดไม่สามารถเปิดให้บริการตามกำหนด ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิดใช้งานมาหลายครั้ง
เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความสูญเสียโอกาสทางธุรกิจและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้สหภาพ ยังมั่นใจว่าภายในปี 2553 นี้ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ และคาดว่าอาจจะเลื่อนไปจนถึงปี 2554 เนื่องจากมีหลายปัญหาที่ฝ่ายบริหารไม่ได้ออกมาให้ความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในจุดต่าง ๆ ที่ล่าช้าจนไม่สามารถส่งมอบงานให้วิศวกรอิสระ(ICE) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2552 ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการติดตั้งกล้อง CCTV แสงสว่าง ช่องหนีภัย ลานจอดรถ เส้นทางการเข้า-ออกแต่ละสถานี ปัญหาทางด้านเทคนิคของระบบต่าง ๆ ในแต่ละสถานี แม้จะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนไม่ใหญ่โตแต่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัย และยังเกี่ยวข้องกับภาพรวมของการให้บริการของสนามบินนานาชาติอีกด้วย
นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ประการสำคัญความพร้อมด้านระบบเก็บเงิน ระบบตั๋ว ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบเช็กอิน ที่ต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ต้องมีระยะเวลาการตรวจสอบจนกว่าจะได้มาตรฐานจริง ๆ ที่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือนดูแล้วปีนี้คงเปิดไม่ทันแน่
"ความล่าช้าดังกล่าวยังทำให้มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา รายได้ก็ไม่มี ดอกเบี้ยต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ เชื่อว่าอนาคตโครงการนี้ไม่น่าจะคุ้มทุน แต่จะขาดทุนสะสมปีละกว่า 1,300 ล้านบาท แถมระยะ 5-10 ปีก็ยังจะมีค่าซ่อมบำรุงเกิดขึ้นอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจึงไม่ควรมองผ่านปมปัญหาเหล่านี้เพราะจะเป็นสาเหตุของการให้รัฐต้องแบกรับภาระในอนาคต เหมือนกับ ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมา"
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่ากรณีการเลื่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แอร์พอร์ตเรลลิงค์เป็นเพราะเหตุทางเทคนิคจริง ๆ แต่เพื่อความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยและความเรียบร้อยได้มาตรฐานทั้งวันนี้และในอนาคตจึงต้องเลื่อนเวลาการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ออกไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้น่าจะได้คำตอบชัดเจนเรื่องการรับรองมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องการออก Taking Over Certificate :TOC ให้ผู้รับเหมาเพื่อคืนกรรมสิทธิ์งานก่อสร้างมาเป็นของการรถไฟฯในนามบริษัทลูก คือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปจึงเปิดให้บริการฟรีไปจนกว่าการตรวจรับมอบงานระบบการเดินรถและระบบโครงสร้าง ระบบความปลอดภัยจะเสร็จสมบูรณ์ อีกทั้งวิศวกรอิสระสามารถออกใบรับรองความปลอดภัย
ทั้งนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามงานขึ้นมา 1 ชุดและได้รายงานให้ทราบโดยตลอด แต่ตามที่คาดการณ์ไว้นั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมปี 2553 นี้ นอกจากนั้นยังมีแผนการจัดหารายได้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระช่วยปลดหนี้ในแต่ละปีด้วยการเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายหลังจากการเดินรถแล้วโดยหน่วยธุรกิจที่การรถไฟฯจัดตั้งขึ้นทำหน้าที่บริหารต่อไป นอกเหนือจากการบริหารด้านการเดินรถของบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด
"ยอมรับว่าบางอย่างล่าช้าเพราะเหตุทางเทคนิคจริง ๆ โดยที่ผ่านมามีการตรวจสอบความพร้อมการเดินรถมาโดยตลอด จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องการเดินรถ แต่ที่ล่าช้าเพราะคณะกรรมการตรวจรับมอบงานโครงสร้างและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องทางเทคนิคยังไม่แล้วเสร็จ พบว่ามีปัญหาหลาย ๆ จุดโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทั้งที่สถานีสุวรรณภูมิและสถานีอื่น ๆ โดยนอกจากจะมีคณะกรรมการติดตามของ ร.ฟ.ท.แล้วยังมีคณะติดตามงานของกระทรวงคมนาคมคอยตรวจสอบและเร่งรัด ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเพื่อให้ทันส่งมอบให้วิศวกรอิสระ ( ICE) ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยและได้มาตรฐานจริง ๆ "
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,521 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2553
http://www.thanonlin...ate-&Itemid=478