แหม ก็เป็นครั้งแรกครับที่ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ สายการบินไทยสมายล์ หรือในชื่อภาษาอังกฤษเต็มๆ คือ Thai Airways Smile สีส้มสดใส
หลังจากที่ ไทยสมายล์ ได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-มาเก๊า 7 กรกฏาคม 2555 ที่ผ่านมา และเปิดเส้นทางบินภายในประเทศมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพ-กระบี่, กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี, กรุงเทพ-เชียงใหม่, เชียงใหม่-ภูเก็ต-เชียงใหม่, กรุงเทพ-ภูเก็ต และล่าสุดภายในประเทศ คือ กรุงเทพ-อุดรธานี และ กรุงเทพ-อุบลราชธานี ให้บริการแทนการบินไทย
แต่เดิมที ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2555 - 13 กุมภาพันธ์ 2556 ไทยสมายล์ มีการแจกของว่างและเครื่องดื่ม (อาทิเช่นน้ำเปล่า หรือน้ำชาเขียวกระป๋อง) นอกจากนั้นจะเป็้นการขายอาหารร้อน ของว่าง และเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงสินค้าที่ระลึก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารการบินไทย และผู้โดยสารกลุ่มระดับบน ต่างมองว่า ค่อนข้างคล้ายกับสายการบินโลว์คอสต์อื่นๆ เพราะมีการขายของบนเครื่องบินด้วยนั่นเอง !! ตามภาพประกอบนี้
จนกระทั่งตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป การบินไทยสมายล์ ได้ยกเลิกการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทุกอย่างบนเครื่องบิน เปลี่ยนเป็นการให้บริการเครื่องดื่ม ชา-กาแฟ-น้ำส้ม-น้ำอัดลม ฟรี สำหรับผู้โดยสารทุกคน
ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการเปิดให้บริการของ การบินไทยสมายล์ คือ
ลดต้นทุนบริษัทแม่ คือ การบินไทย
1. ใช้ฝูงบินแบบเดียวกัน คือ แอร์บัส A320-200 High Density Configuration ขนาด 174 ที่นั่ง 29 แถว (ซึ่งค่อนข้างอัดแน่นมาก เพราะค่ายแดงอัดไป 180 ที่นั่ง 30 แถว และ ค่ายน้ำเงิน อัดไป 162 ที่นั่ง แค่ 27 แถวเท่านั้น)
2. ลูกเรือสดใสวัยทีน ลูกเรือส่วนใหญ่มีอายุไม่เกินวัยเบญจเพสทั้งนั้น (เกิดตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นไป) โดยใช้ระบบการจัดจ้างแบบมีสัญญาจ้าง ซึ่งพนักงานต้อนรับก็จะไม่ใช่พนักงานของการบินไทยโดยตรงตามปกติ แต่ทั้งนี้ ลูกเรือแต่ละรายมีดีกรีมิใช่น้อยๆ เลยครับ !!
3. ปรับรูปแบบการให้บริการบนเที่ยวบิน เพื่อลดต้นทุนมากขึ้น โดยยังคงให้บริการทุกอย่างตามปกติ เพียงแต่จะไม่ได้อยู่ในระดับทัดเทียมเท่าการบินไทย ตามคอนเซปต์ "Light Premium" นั่นหมายถึง แทนที่จะเสิร์ฟ Snack Box ก็เสิร์ฟเป็น Smile Pack แทน เส้นทางระหว่างประเทศ (ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) สำหรับชั้นประหยัด แทนที่จะเสิรืฟอาหารร้อนเป็นถาดจัดเต็มชุดใหญ่ ก็เหลือแค่ Smile Pack แต่มีของหวาน และมีเครื่องดื่ม ชา-กาแฟ-น้ำส้ม-น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดืมแอลกฮอลล์ ให้บริการ (on request)
ก็เรียกได้ว่า ตอนนี้ ไทยสมายล์ ดำเนินกลยุทธ์ Hybrid Model นั่นก็คือ
มีการบริหารจัดการเพื่อลดต้้นทุนการดำเนินงานให้มากที่สุด แต่ยังคงการให้บริการเต็มรูปแบบตามคอนเซปต์ 'Light Premium'
อันมีเป้าหมาย เพื่อจะเป็น Regional Airlines ของการบินไทย
ที่ให้บริการในรูปแบบ Trendy - Friendly - Worthy (ทันสมัย+เป็นมิตร+คุ้มค่า)
(เช่นเดียวกับ Silk Air ของ Singapore Airlines และ Dragon Air ของ Cathay Pacific)
ดังนั้น ความเป็นจริงแล้ว คู่แข่งของไทยสมายล์ ควรจะเป็น Full Service Airlines ในระดับ Regional เหมือนกัน
แน่นอน เจ้าที่ตรงตัวเป๊ะๆ ในประเทศไทยก็คือ 'บางกอกแอร์เวย์ส' นั่นเองครับ !!
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตอนนี้ ไทยสมายล์ เอง ก็กำลังเจริญรอยตามบางกอกฯ อยู่หลายอย่าง อาทิเช่น การเปิดศึกชิงลูกค้า ในเส้นทางที่มีสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดัง (ที่คุณก็รู้ว่าใคร) ที่ดำเนินกลยุทธ์เปิดเส้นทางบินแบบ The First & Only Direct Flight เพื่อรักษาฐานลูกค้าของการบินไทย ไม่ให้โดนช่วงชิงตกไปอยู่ในเงื้อมมือของสายการบินโลว์คอสต์ พูดง่ายๆ ก็้คือ Thai Smile ทำหน้าที่เป็น Fighting Brand !! ในการบริการกลุ่มลูกค้าระดับบน ที่ไม่ต้องการใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ และยังคงต้องการบริการเสริมต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มยิบย่อยแต่อย่างใด
สรุป เปรียบเทียบระดับสายการบิน
Premium Full Service : บริการเต็มรูปแบบทุกอย่าง อาหารบนเครื่องพร้อมสรรพ รวมทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม (อาทิเช่น การบินไทย, บางกอกแอร์เวย์ส, สิงคโปร์แอร์ไลน์ส - ซิลค์แอร์, คาเธ่ย์แปซิฟิค - ดราก้อนแอร์, เอมิเรสต์, เอทิฮัด, กาตาร์ และ สายการบินดังๆ ของโลกมากมาย ฯลฯ)
Light Premium Full Service : ยังคงการบริการทุกอย่างไว้อย่างครบถ้วน แต่มีการตัดทอนปริมาณของการบริการบางอย่างลงบ้าง อาทิเช่น ให้บริการของว่าง+น้ำดื่ม แทนที่จะให้บริการอาหารร้อน หรือ Snack Box, หรือความสะดวกสบายของที่นั่ง ด้วยระยะห่างของแถวทีค่อนข้างน้อยกว่าสายการบินอื่นๆ เพื่อจะได้จุผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งอันนี้หล่ะ คือ 'การบินไทยสมายล์' ตามคอนเซปต์ Trendy Friendly Worthy
Premium Low-Cost : สายการบินต้นทุนต่ำ ที่ยังคงให้สิทธิ์แก่ผู้โดยสารในการโหลดสัมภาระลงใต้ท้องเครื่องบินได้ฟรี อย่างน้อย 15 กิโลกรัม, เลือกที่นั่งฟรี และยังมีของว่างและน้ำดื่มในปริมาณที่จำกัด ให้บริการบนเที่ยวบิน ซึ่งอันนี้ ของไทยก็คือ นกแอร์, ถ้าของมาเลย์ คือ Malindo Air
Ultra Low-Cost : สายการบินต้นทุนต่ำ ที่ยึดคอนเซปต์ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อยากได้อะไรก็ต้องซื้อเพิ่ม" ถ้าไม่ซืออะไรเพิ่ม ก็ได้แค่การเดินทางที่ปลอดภัยจนถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น ถ้ามีสัมภาระใหญ่เกินกำหนดก็ต้องเสียค่าระวางโหลดสัมภาระ, อยากนั่งตรงไหนพิเศษก็ต้องจ่ายเพิ่ม, อยากทานอาหารบนเครื่องก็ต้องซื้อเพิ่ม, ตัดบริการทุกสิ่งอย่างออก เหลือแค่การให้บริการการเดินทางด้วยความปลอดภัยและตรงต่อเวลามากที่สุดเท่านั้น แน่นอน สายการบินที่คงคอนเซปต์นี้เป็นอย่างดีก็คือ แอร์เอเชีย, ไทเกอร์แอร์เวย์ส, เจ๊ตสตาร์, สกู๊ต, เซบูแปซิฟิค ฯลฯ เป็นต้น