โสภณ ยันเลื่อนเปิดแอร์พอร์ตลิงค์เป็น ก.ค.53
โสภณ ซารัมย์ลั่นเปิดใช้แอร์พอร์ตลิงค์เชิงพาณิชย์ไม่ทัน เม.ษ. 53 นี้ ระบุต้องรอให้วิศวกรตรวจสอบออกใบรับรองมาตรฐานก่อน คาดเปิดจริง ก.ค.นี้
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการเปิดใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์แล้ว พบว่า ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนเดิมที่เม.ย.นี้แล้ว เนื่องจากการรับมอบงานจากเอกชนผู้รับเหมาไม่เป็นไปตามกำหนด ประกอบกับ พบว่ายังมีปัญหาในบางจุด เช่น ระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบวิทยุสื่อสาร และกล้องวงจรปิดอีก 70 ตัว ยังไม่ได้ติดตั้ง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่สามารถรับมอบงาน และเปิดให้วิศวกรอิสระทำการตรวจสอบระบบและออกใบรับรองมาตรฐานได้
สำหรับการเปิดทดลองให้ประชาชนได้ใช้บริการฟรีนั้น จะเริ่มเปิดในเดือนเม.ษ.นี้ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ รฟท.จัดตารางการเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ พร้อมกับตรวจสอบระบบรถไฟฟ้าจากวิศวกรอิสระ (I.C.E) ไปด้วย ซึ่งการตรวจสอบระบบจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีการเดินรถตามตารางเท่านั้น ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน และจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ก.ค.นี้
ทั้งนี้ รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการเร่งรัดการเปิดใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ระบุว่า การส่งมอบงานที่ล่าช้า ไม่ตรงตามเวลา กลุ่มซีเมนส์ เอกชนผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าปรับตามสัญญา เพราะตามกำหนดส่งมอบงานจริง คือ วันที่ 4 พ.ย. 2552 และ ครม.อนุมัติขยายเวลาให้อีก 90 วัน ซึ่งครบกำหนดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ รฟท.ไม่สามารถรับมอบงานได้จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ซีเมนส์ต้องจ่ายค่าปรับเบื้องต้นเป็นจำนวน 17 ล้านบาท ไม่รวมมูลค่าของงานทั้ง 3 งานที่ยังไม่ตรงตามทีโออาร์ ซึ่งจะมีค่าปรับในส่วนนี้ด้วย
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวถึงการคำนวณการปรับเงินบริษัทซีเมนส์ ว่า เมื่อพิจารณาตามสัญญาพบว่า สัญญาระหว่าง รฟท.กับซีเมนส์ในการก่อสร้างและติดตั้งระบบเดินรถนั้น ได้ครบ 900 วัน ในวันที่ 6 ส.ค. 2552 และมีอายุการทดสอบเดินรถตามสัญญา 90 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 4 พ.ย. 2552 โดยงานติดตั้งระบบสื่อสารที่ล่าช้าจากแผนก่อสร้าง 900 วัน ซึ่งซีเมนส์เคยแจ้งให้ทราบว่างานจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ม.ค. 2553 ซึ่งในส่วนนี้สามารถรวมค่าปรับตามสัญญาทั้งหมดเท่ากับ 17 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นค่างานระบบสื่อสารที่ล่าช้า และระบบไฟฟ้าสำรองที่มีปัญหาตามข้อสัญญา รวม 8 ล้านบาท ซึ่งคำนวณเป็นค่าปรับวันละ 50,000 บาท และจะทำการปรับไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิศวกรอิสระจะทำการรับรองให้การรถไฟรับมอบงาน ส่วนการปรับนั้นจะมีวงเงินสูงขึ้นอีก หากพ้นกำหนดทดสอบเดินรถ 90 วัน ก็จะมีวงเงินการปรับเงินตามสัญญาสูงขึ้น คือร้อยละ 0.5 ของมูลค่างานรวมกว่า 25,000 บาท
สำหรับปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าสำรองของโครงการนั้น มีการโต้แย้งระหว่าง รฟท. และซีเมนส์ว่า จะต้องมีกำลังไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉินจาก 3 แหล่งผลิต หรือ 4 แหล่งผลิต ซึ่งจะต้องมีการเจรจาให้ได้ข้อยุติเร็วที่สุด
http://www.bangkokbi...ป็น-ก.ค.53.html