พระองค์ให้บันทึกวิทยาการในศลา่จารึกเพื่อรักษาความรู้ของบรรพชน
และเงินถุงแดง มรดกจากรัชกาลที่ ๓ ที่ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ...
ในรัชกาลที่ ๓ ส่วนเงินกำไรที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้มาเป็นเงินส่วนพระองค์นี้ มิได้ทรงใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงใดๆ หรือยกให้พระราชโอรสธิดาตามพระทัยชอบทั้งที่มีสิทธิ์ทำได้ แต่ทรงนำมาใส่ถุงแดง แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทม ส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เพื่อสร้าง และทะนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนครและภายนอก อีกส่วนหนึ่งก็ทรงยกให้แผ่นดิน มีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง" หมายถึงว่าถ้าต้องเพลี่ยงพล้ำกับข้าศึกศัตรูแล้ว จะได้นำเงินนี้ออกมาใช้กอบกู้บ้านเมือง
พระราชดำรัสนี้น่าประหลาดตรงที่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ ก็เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อไทยถูกฝรั่งเศสปรับโทษเป็นเงิน ๓ ล้านบาท จนท้องพระคลังมีไม่พอ ก็ได้ ‘ เงินถุงแดง ‘ ส่วนนี้ไปสมทบ ไถ่บ้านเมืองเอาไว้ได้จริงๆ แสดงว่าเงินถุงแดงที่ทรงสะสมไว้ มีจำนวนมากมายทีเดียว
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยบ้านเมืองยิ่งกว่าเรื่องส่วนพระองค์จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต ก็มิได้ทรงพะวงกับเรื่องอื่นนอกจากความสงบสุขของแผ่นดิน ถึงกับพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขุนนางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้า ไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"
น่าประหลาดอีกเช่นกัน ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในเรื่องนี้อย่างแม่นยำเช่นเดียวกับเรื่อง ‘ เงินถุงแดง ‘ เพราะถ้าเรานึกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยหลังจากเสด็จสวรรคตมาแล้วถึง ๑๔๙ ปี พระบรมราโชวาทเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งทันสมัย ควรแก่การนำมาทบทวนและเตือนใจคนไทยอีกครั้งหนึ่ง